loader image
ข้ามไปยังเนื้อหา

เพราะเป็น

โสด

จึงต้องจ่าย…?

พุทธศักราช 2486

ชายโสดสมควรเสียภาษีให้แก่รัฐมากกว่าผู้ที่ไม่โสด และนอกจากนี้ หากผู้ใดได้ทำการสมรสแล้ว ก็ไม่ต้องเสียภาษีนี้ การเก็บภาษีทำนองนี้ย่อมจะทำให้ความเจริญให้แก่ชาติหลายประการ

ข้าพเจ้าขอพาทุกท่านเดินทางข้ามเวลากลับไป พ.ศ. 2486 ตามหาที่มาแนวคิด “พระราชบัญญัติภาษีชายโสด” และการถกเถียงในสภาฯ ของเหตุการณ์ ณ วันแรกที่มีการเสนอ…

พุทธศักราช
2566

วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม 2486

ฝ่ายเสนอ : พ.อ. ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เนื่องจากเห็นว่า ‘ชายโสด’ สมควรจะเสียภาษีให้แก่รัฐบาลมากกว่าผู้ที่ไม่โสด การเก็บภาษีทำนองนี้ย่อมจะทำความเจริญให้แก่ชาติหลายประการ ขอประทานเรียนเพิ่มเติมว่า…

ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีความมุ่งหมายในทางเร่งรัดชายโสดให้รีบแต่งงานเสีย เพราะปรากฏว่า ตั้งแต่สงครามได้เกิดขึ้นคราวนี้เป็นต้นมา นานาประเทศทั่วโลกก็ได้เร่งรัดเรื่องการสร้างพลเมือง โดยเหตุผลว่า ต้องการคนสำหรับมาทดแทนผู้ที่ตายไป และนอกจากนั้นก็คือว่า ต้องการกำลังของชาติโดยรีบด่วน ในบรรดาประเทศต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการส่งเสริมการเพิ่มพลเมืองก็ได้มีบทบัญญัติในเรื่องการที่จะเก็บ 'ภาษีชายโสด' อยู่แล้ว เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศซึ่งรู้สึกว่า ประชาชนพลเมืองได้เปลี่ยนอุปนิสัยจิตใจไปในทางเห็นแก่ตัว ก็เป็นภาระของประเทศที่จะต้องคำนึงถึงจำนวนพลเมืองที่จะต้องถูกลดบั่นทอนลงไปด้วยการกระทำของผู้ชาย ซึ่งมีความรู้สึกเห็นแก่ตัวนั้น

โดยการเก็บภาษีชายโสดนี้ พ.อ. ช่วง ชี้แจงว่า ไม่ได้เก็บ “ชายโสดทุกคน” แต่มีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ว่า จะเก็บแก่ “ผู้ชายที่มีรายได้ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร” เท่านั้น

และอนุโลม… ให้กับผู้ที่แสดงหลักฐานเป็นที่พอใจได้ว่า ตลอดปีที่ล่วงมาแล้ว

(ก) เป็นพระภิกษุ
(ข) มีลูกที่ยังมีชีวิตอยู่ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
(ค) ต้องโทษจำคุก
(ง) เป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง
(จ) ทำการสมรสไม่ได้ โดยมีอวัยวะสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์
(ฉ) เป็นบุคคลวิกลจริต หรือ
(ช) รับราชการทหารกองประจำการ หรือตำรวจตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร

แน่นอนว่า… ข้อเสนอนี้ย่อมไม่ได้มี ‘คนเห็นด้วย’ เสียทั้งหมด
การโต้แย้งจึงเกิดขึ้น

ฝ่ายเห็นแย้ง : นายชิต เวชประสิทธิ์ (ภูเก็ต)

เหตุผลการขอคัดค้าน คือว่า… ในการเก็บภาษีชายโสดนี้เป็นวิธีการเก็บภาษี ซึ่งไม่ให้ความเป็นธรรมแก่สังคมเลย

โดยยกตัวอย่างว่า

ผู้ชายจะแต่งงานโดยไม่มีผู้หญิงไม่ได้ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ด้วยเหตุผลอันใดจึงได้เก็บภาษีแต่เฉพาะผู้ชายฝ่ายเดียว และโดยเฉพาะสังคมปัจจุบันนี้ ฐานะของสตรีก็ย่อมเป็นที่รับรองกันแล้วว่า สตรีมีความสามารถในการสังคมไม่แพ้ผู้ชาย

เหตุประการที่ 2 กฎหมายเก็บภาษีชายโสดฉบับนี้ เป็นกฎหมายเก็บภาษีส่วนบุคคล ถ้าจะคิดบุคคลที่ต้องเสียภาษีแล้ว เหตุใดรัฐบาลจึงไม่หาวิธีเก็บภาษีจากบุคคลที่ยังไม่มีโอกาสเสียภาษี

การที่รัฐบาลได้เร่งรัดโดยการเก็บภาษีให้บุคคลแต่งงานนั้น รัฐบาลได้คำนึงหรือเปล่าว่า มาตรฐานการครองชีพของครอบครัวคนไทยอยู่ที่ระดับเท่าใด

ฝ่ายเห็นแย้ง : ร.ท. ประจวบ มหาขันธ์ (อุดรธานี)

ในแง่การเมืองจะเห็นได้ว่า คนที่เกิดมากที่สุดในโลก และมีพลเมืองมากที่สุดในโลกนั้น หาได้เป็น ‘มหาอำนาจ’ ไม่ เช่น จีนและอินเดีย เป็นต้น มีคนมากที่สุดในโลกแต่ไม่ได้เป็นมหาอำนาจ

สถิติ ‘ชายโสด’ ณ ขณะนั้น

อ้างอิงจาก พ.อ. ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รมว.สาธารณสุข รักษาการแทน รมว.การคลัง

อายุ 17 ปีขึ้นไป (หน่วย : คน)
0

ทีนี้จะเก็บตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป คือให้ผ่านพ้นเวลาการศึกษาและเฉพาะผู้ที่มีรายได้ก็ต้องหักออกเสียในจำนวนผู้ชาย ที่มีอายุระหว่าง 17-25 ปีนั้น ก็ต้องหักออกเสียด้วยจำนวนหนึ่ง ประมาณ 1,000,000 คน แล้วก็ต้องหักผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป คือ แก่เฒ่าแล้ว นอกจากนั้นก็มีหักตามมาตรานี้ คือ พวกที่ยกเว้นต่าง ๆ

ด้าน นายแก้ว สิงหะคเชนทร์ (พิจิตร) ได้เห็นแย้งด้วยสถิติ ณ ขณะนั้น อีกมุมหนึ่งว่า

0%

มีคนโสดไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ที่อยากจะมีคู่ครอง เพียงแต่… “หากว่าหาดีไม่ได้ อะไรที่จะได้ก็ไม่ใคร่จะดี เรื่องเป็นอย่างนั้น”

เวลานี้ยังมีประเพณีโบราณค้ำคอเราอยู่ คือ ประเพณีการเรียกสินสอดทองหมั้น นี่เป็นกำแพงที่ใหญ่ยิ่งกว่ากำแพงเมืองจีน ซึ่งทำให้คนโสดของเราจำเป็นต้องเป็นโสดอยู่ เหตุไฉนรัฐบาลจึงไม่พยายามจัดการแก้วิธีนี้ให้เพลาลง

ฝ่ายเห็นแย้ง : นายพุฒเทศ กาญจนเสริม (ศรีสะเกษ)

สมมติว่า ‘สมรส’

ทีนี้ ‘ท้อง’ แล้ว ภาระจะเกิดอย่างไรบ้างนับแต่ภรรยาตั้งท้องแล้ว มีภาระอะไรบ้าง และเมื่อคลอดออกมาแล้วต้องมีภาระอะไรบ้าง ในการคลอดครั้งหนึ่ง

รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงการสาธารณสุข มีนางผดุงครรภ์พอหรือยังที่จะทำการคลอดทั่วไป และในด้านทารกนั้น กระทรวงการสาธารณสุขย่อมเป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบนั้น มีองค์การจัดการสาธารณสุขและอนามัยอย่างไรบ้าง มีสถานที่โรงพยาบาลรับรักษาเด็กหรือไม่ มีสถานที่สำหรับรับคลอดเพียงพอหรือไม่

ถ้าอยากจะให้เกิดมาก ๆ ทีนี้ลูกเกิดมาแล้ว เป็นลูกของใคร รัฐบาลรับรองได้ไหมว่าเป็น 'ลูกของชาติ' ยินดีรับเอาไปเลี้ยงจะได้หรือไม่

0%

สถิติกรมสาธารณสุข พ.ศ. 2480 มีเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบลงมา ตายเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ โดยไร้การรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องตามหลักวิชา

นายพุฒเทศเห็นว่า การเพิ่มพลเมืองไม่ใช่เป็นปัญหาที่เขาไม่ได้สมรส แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อเกิดมาแล้วจะรักษาอย่างไร

จากข้อโต้แย้งนั้น

ฝ่ายเสนอ… ตอบกลับอย่างไร ?

ฝ่ายเสนอ : พ.อ. ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เรื่องนางสงเคราะห์ มีการอบรมทุก ๆ ปี โรงพยาบาลทุกแห่งจะมีการขยายการรักษาเด็ก และมีกองมารดาทารกสงเคราะห์ ซึ่งมีโครงการขยายกว้างขวางอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ต่อไปใครจะมีลูกก็ไม่อั้นประตูมีเท่าไรเท่ากัน

แต่ในขณะเดียวกัน การมีลูกนั้น เป็นเรื่องสมรรถภาพในการครองชีพ ใครมีลูกมากก็เร่งมาก จะสังเกตเห็นว่า ชาวไทยเรา ใช้แรงงานน้อยกว่าต่างประเทศเขาใช้กัน ผู้ที่ไปต่างประเทศจะเห็นได้ว่า ความจำเป็นในการครองชีพในครอบครัวนั้นเป็นเหตุหนึ่งช่วยเร่งรัดให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น

เพราะฉะนั้น การบังคับในเรื่องภาษีนี้ เพื่อให้ราษฎรสร้างครอบครัวของตัว ก็เท่ากับว่าเป็นการสร้างเศรษฐกิจของประเทศอย่างหนึ่ง นี่ก็เป็นผลที่ควรจะได้

การถกเถียงระหว่างรัฐบาล (เสนอ) และฝ่ายเห็นแย้งยังคงดำเนินต่อไป

จนกระทั่งเวลาประมาณ 17.00 น. ประธานสภาฯ ได้ขอให้ที่ประชุมวินิจฉัย ดังนี้

  • เห็นว่าควรเปิดอภิปรายต่อไป สมาชิกยกมือ 45 นาย
  • เห็นว่าควรลงมติได้แล้ว สมาชิกยกมือ 26 นาย

 

เป็นอันว่า ตกลงให้เปิดอภิปรายต่อไป โดยประธานสภาฯ ขอเลื่อนไปนัดประชุมหน้า

เลิกประชุมเวลา 17.00 น.

จากกาลนั้น…ได้มีการนำเข้าอภิปรายในที่ประชุมสภาฯ อีกหลายครั้ง จนกระทั่งมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 6 เล่ม 61

พระราชบัญญัติพาสีชายโสด พ.ศ. 2487

ประกาศ ณ วันที่ 18 มกราคม 2487

โดยพระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติพาสีชายโสด พุทธศักราช 2487” รายละเอียดจะเป็นอย่างไร… ติดตามได้บรรทัดจากนี้

พระราชบัญญัติพาสีชายโสด พุทธศักราช 2487

“ปี” หมายความว่า ปีปฏิทิน

“ภาวะเป็นโสด” หมายความว่า ภาวะที่ไม่มีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายแต่ขาดจากกันแล้ว

“ชาย” หมายความว่า ชายมีสัญชาติไทย และมีอายุตั้งแต่ 25 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 45 ปีบริบูรณ์ ในวันต้นของปีที่ล่วงมาแล้ว

ผู้ที่แสดงหลักฐานเป็นที่พอใจได้ว่า ตลอดปีที่ล่วงมาแล้ว

(ก) เป็นพระภิกษุ
(ข) มีลูกที่ยังมีชีวิตอยู่
(ค) ต้องรับอาญาอยู่ในเรือนจำ
(ง) เป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง
(จ) ทำการสมรสไม่ได้โดยมีอวัยวะสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์
(ฉ) เป็นบุคคลวิกลจริต
(ช) รับราชการทหารกองประจำการหรือตำรวจ ตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร

ให้ได้รับยกเว้น “ภาษีชายโสด”

แล้ว “ชายโสด” ที่อยู่ในเกณฑ์ต้องจ่าย “ภาษี” คือใครกัน ? และจ่ายเท่าไร ?

0%
เทียบสัดส่วนที่ต้องจ่าย

ถ้าปรากฏแก่เจ้าพนักงานประเมินว่า ผู้ยื่นรายการผู้ใดเป็นชาย ซึ่งอยู่ในภาวะเป็นโสดตลอดปีที่ล่วงมาแล้ว มีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ปีละ 960 บาทขึ้นไป

ให้เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษี เรียกว่า “ภาษีชายโสด” เป็นเงิน 5 บาท หรืออัตราร้อยละ 10 ของภาษีเงินได้ที่ต้องเสีย แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า และแจ้งจำนวนภาษีให้ผู้อื่นรายการดังกล่าวทราบเช่นเดียวกับภาษีเงินได้

โดยให้เสียภายในกำหนดเวลาเช่นเดียวกันภาษีเงินได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

ท้ายที่สุด เมื่อเวลาผ่านไป…

จำนวนวัน นับจากวันที่ประกาศบังคับใช้จนถึงวันประกาศยกเลิก
0

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 62 ตอนที่ 3

พระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีชายโสด พ.ศ. 2487

ประกาศ ณ วันที่ 9 มกราคม 2488

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี

จากแนวคิดในอดีตนั้น หากในมุมมอง ณ ปัจจุบัน คุณเห็นด้วยหรือไม่ ?

Loading

อัปเดตผลความคิดเห็น 13 พ.ย. 66 เวลา 10.15 น.

ที่มา :
รายงานและบันทึกการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
พระราชบัญญัติพาสีชายโสด พ.ศ. 2487
พระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีชายโสด พ.ศ. 2486

Share This 👇

Facebook
X (Twitter)