2579 คนไทยต้องมีบ้าน
หนึ่งในยุทธศาสตร์และวาระแห่งชาติด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนที่รัฐบาลประกาศนั้น จะเกิดขึ้นกับคนไทยกว่า 66 ล้านคนหรือไม่ ?
เพราะมีข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ระบุว่า ประเทศไทยมี 21 ล้านครัวเรือน ยังไม่มีที่อยู่อาศัย 5 ล้านครัวเรือน ตรงนี้ใครจะช่วยตอบโจทย์พวกเขาเหล่านี้ กับเวลาที่เหลืออยู่เพื่อให้พวกเขาเข้าเส้นชัยชีวิตให้ได้
นโยบายรัฐบาล…มุ่งสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ในศตวรรษที่ 21
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงนโยบายรัฐบาล ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยวิสัยทัศน์
มุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21
โดยหนึ่งในนโยบายดังกล่าวนั้นคือ การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
รูปธรรมของนโยบาย หนึ่งในนั้นประกอบด้วย การขยายโอกาสการเข้าถึง “สินเชื่อที่อยู่อาศัย” และเมื่อพิจารณานโยบายรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” นั้น จะเห็นชัดเจนว่า เน้นหนักด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเป็นหลัก จนอาจจะละเลยนโยบายด้านสังคมไปหลายวาระ
แล้วรู้ไหมว่า “ราคา” ที่เพิ่มขึ้น อาจสวนทางกับโอกาสและความฝัน
จากการประเมินราคาที่ดินของกรมธนารักษ์ ปี 2566-2569 พบว่า ราคาที่ดินประเมินเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 8% ทั่วประเทศ หลังจากเลื่อนใช้มาแล้วหลายรอบนับตั้งแต่ปี 2564
ขณะที่ ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รายงานดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 4/2565 เพิ่มขึ้น 3.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
แปลว่า ราคาที่ดิน คือ ต้นทุนหลักในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
เมื่อบวกกับค่าน้ำมัน ค่าวัสดุ ค่าแรงงาน และอื่น ๆ พบว่า ทุกอย่างปรับขึ้นราคา แม้ว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ประกาศใช้ไปทั่วประเทศเมื่อช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 จะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่หากเทียบกันแล้ว แตกต่างกันมาก และน่าจะยากขึ้นไปอีกหลายชั้นสำหรับผู้ที่ต้องการจะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.
เพราะอย่าลืมว่า กทม. นั้น คือ แหล่งหารายได้และแหล่งงานที่คนไทยทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามาหาโอกาสของชีวิตเป็นจำนวนมาก เมื่อความต้องการเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ตอบสนองความต้องการนั้นเพิ่มราคาขึ้นทุกปีตามภาวะเศรษฐกิจ
แต่ในภาวะความเป็นจริงแล้วนั้น โอกาสในวันนี้และวันข้างหน้าที่คนไทยจะมี “บ้านเป็นของตัวเอง” น่าจะต้องสู้กับชีวิตกันอีกมาก
เพราะบทวิเคราะห์ของ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้กูรูกรุ๊ป จำกัด (บริษัทเทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์นิวยอร์ก) ประเมินแนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ไทยปี 2566 ราคาอสังหาริมทรัพย์ (เฉพาะโครงการเปิดใหม่ในปี 2566) มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 5-10%
บ้านมือสอง หรือบ้านราคาต้นทุนเดิม ที่คาดว่าจะได้รับความสนใจจากผู้ซื้อมากขึ้น
บ้านเดี่ยวมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการพื้นที่ใช้สอยที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค และความคืบหน้าของเส้นทางรถไฟฟ้าที่ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอก
อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้นอีก ส่งผลต่อผู้ที่กู้ซื้อบ้านหรือกำลังผ่อนบ้านอยู่ ต้องจ่ายค่างวดมากขึ้น หรือใช้ระยะเวลาผ่อนนานขึ้น
จะมีวิธีใดที่ “คนรุ่นใหม่” จะเดินสู่ฝันของการมีบ้านได้บ้าง ?
แม้ราคาจะปรับขึ้น แต่ยังพบว่า คนไทยรุ่นใหม่ยังฝันที่จะมีบ้านเป็นของตัวเอง เพราะบริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด รายงานผลวิจัย The Most Powerful Real Estate Brand 2022 และผลวิจัยเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภค ตามแนวคิด “GOOD HEALTH AND WELL-BEING” พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 84% จาก 1,000 ตัวอย่าง มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัย โดยกว่า 44% คาดว่าจะซื้อบ้านเดี่ยว และ 29% คาดว่าจะซื้อคอนโดมิเนียม โดยวางงบฯ ซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคา 3-5 ล้านบาท
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมาจาก 3 ปัจจัย คือ ระบบรักษาความปลอดภัยของโครงการ, บริการหลังการขาย และสังคมเพื่อนบ้านที่ดี
เทรนด์ของผู้บริโภคในปี 2565 จะให้ความสำคัญกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) มากกว่าการเปรียบเทียบราคาหรือทำเลแบบเมื่อก่อน และต้องสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ส่วนบุคคลผู้อยู่อาศัยในแต่ละช่วงวัย
ผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่ม Gen Y อายุ 27-40 ปี มีแผนที่จะซื้อที่อยู่อาศัยถึง 88% โดย 38% เป็นการซื้อบ้านหลังที่ 2 อยู่ที่ 29% เป็นการซื้อบ้านหลังแรก ซึ่งส่วนใหญ่มีความต้องการซื้อบ้านเดี่ยวในระดับ ราคา 3-7 ล้านบาท และให้ความสำคัญกับระบบรักษาความปลอดภัยที่รัดกุมและทันสมัย
ผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่ม Z อายุ 18-26 ปี พบว่า 87% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีแผนที่จะซื้อที่อยู่อาศัย โดย 72% เป็นการซื้อบ้านหลังแรก และ 17% เป็นการซื้อบ้านหลังที่ 2 โดยสนใจซื้อคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยวในระดับราคา 2-5 ล้านบาท ปัจจัยสำคัญมาจากความต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง, ต้องการสังคมที่ดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น และต้องการซื้อไว้พักอาศัยในวันทำงาน
ขณะที่ เรื่องการจัดการระบบสาธารณูปโภคที่ดี เช่น สายไฟลงดิน, ระบบระบายน้ำ, ระบบจัดการขยะ นวัตกรรมที่ช่วยอำนวยความสะดวก เป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจเช่นกัน
หากผลวิจัยดังกล่าวสะท้อนความต้องการที่อยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่ แต่ภาวะที่ยากต่อการเข้าถึงบ้านในวันนี้และอนาคตสำหรับใครหลายคนนั้น โอกาสเหล่านั้นจะเอื้อถึงพวกเขาหรือไม่ และวิธีใดบ้างที่จะทำให้ฝันนั้นกลายเป็นจริง…
The Visual by Thai PBS ชวนทุกคนช่วยกันหาทางออก เพื่อให้คนไทยมี “บ้าน” (เป็นของตัวเอง) อย่างที่หวัง
ใน Home & Hope 💻 https://thevisual.thaipbs.or.th/home-and-hope/main/