เมื่อเอ่ยถึงของกินในกรุงเทพมหานคร อาหารขึ้นชื่ออีกชนิดหนึ่งที่น่าจะทำให้นักชิมสายรักสุขภาพหลายคนลำบากใจไม่น้อย นั่นก็คือ “เมนูขนมหวานและเครื่องดื่ม” ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ เบเกอรี เค้ก ไอศกรีม และอีกมากมาย รายการอาหารถูกใจสายหวานเหล่านี้ ล้วนเป็นเมนูที่หากินได้ง่ายและกระจายอยู่ทั่วทุกแห่งของกรุงเทพมหานคร โดยในแง่การเติบโต ธุรกิจร้านของหวานและเครื่องดื่มเหล่านี้ ก็มีอัตราเพิ่มขึ้นที่สม่ำเสมอ ผนวกกับอิทธิพลโลก Social Media ที่กำลังเข้ามา ทำให้เกิดวัฒนธรรมการรีวิวอาหารที่มีส่วนทำให้เมนูของหวาน/เครื่องดื่มหลายชนิด Go Viral ได้ภายในเวลาชั่วข้ามคืน
ชานมไข่มุก ถือเป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับเมนูเครื่องดื่มซึ่งเสียงตอบรับดีไม่มีตก ด้วยเสน่ห์ความหอมของชาและรสสัมผัสไข่มุกที่ทั้งนุ่ม ทั้งหนึบ ทำให้ไม่น่าแปลกที่เมนูเครื่องดื่มยอดนิยมจากไต้หวันแก้วนี้ จะครองใจคอชาชาวไทยมาเป็นเวลาหลายปี โดยปัจจุบันจากการสำรวจของ Wongnai เมื่อปี 2020 ในกรุงเทพมหานคร มีร้านชานมไข่มุกกว่า 3,700 ร้าน และมีราคาหลากหลายตั้งแต่หลักจับต้องได้ 20 – 30 บาท ไปจนถึงแก้วพรีเมียมราคาหลักร้อยบาท ย่านที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูง แหล่งรวมห้าง ตลาด สถานศึกษา ออฟฟิศ อย่างจตุจักร และปทุมวัน ก็ถือเป็นย่านที่มีร้านชานมไข่มุกกระจุกตัวอยู่มากที่สุด โดยปัจจุบันเรายังได้เห็นเบรนด์ชานมจำนวนมาก มีการคิดค้นลูกเล่นใหม่ ๆ ใส่เข้าไปในเมนูตลอดเวลา เช่น ไข่มุกสีทอง หรือสูตรน้ำตาลน้อย อันเป็นการขยายตลาดไปสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ฝั่งขนมหวานเองก็ไม่น้อยหน้า เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจอาหารที่มีกระแสให้ได้พูดถึงอยู่ตลอด อย่างเช่น ขนมประเภทเบเกอรีและเค้ก ซึ่งมีจำนวนร้านในกรุงเทพฯ มากถึง 6,891 ร้าน และมีอัตราการเติบโตย้อนหลัง 5 ปี สูงถึง 71.79% เรียกได้ว่าเป็นขนมที่คนกรุงให้ความสำคัญอยู่ไม่ขาด อย่างในปี 2020 ครัวซองต์ ก็กลายเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมเข้าขั้นถล่มทลาย ซึ่งปรากฏการณ์นี้ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากอิทธิพลของ Influencer และ YouTuber สายอาหาร ที่พร้อมใจทำรีวิวเกี่ยวกับครัวซองต์ขึ้นมา จนเปลี่ยนขนมอบธรรมดา ให้กลายเป็นเมนูสุดฮิตชนิดต้องต่อคิวรอซื้อกันข้ามวัน
ครัวซองต์ และอีกหลากหลายเมนูได้สะท้อนภาพวัฒนธรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมการกินของคนไทย นั่นก็คือการรีวิวอาหาร ชี้ให้เห็นว่าโลกออนไลน์ ณ ปัจจุบัน มีอิทธิพลค่อนข้างมากต่อการชักจูงให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกที่จะกินอาหาร เมนูใดเมนูหนึ่ง ด้านคุณเอกลักษณ์ วิริยะโกวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ของเว็บไซต์ Wongnai มองว่า โดยพื้นเพของคนไทยแล้ว อาหารการกินถือเป็นเรื่องสำคัญ จึงไม่น่าแปลกที่ Content อาหารจะได้รับความนิยมอย่างมากเมื่อเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์
“คิดว่าวัฒนธรรมการรีวิวมีอิทธิพลต่อชีวิตเราเยอะมาก ยิ่งปัจจุบันที่คนเราใช้ชีวิตอยู่กับออนไลน์เยอะมากขึ้นเรื่อย ๆ และส่วนหนึ่งมันก็คือโลกของ Social Media ฝั่งที่เป็น Creator ก็เข้ามาตรงนี้ เพื่อใช้เครื่องมือสร้างฐานแฟนคลับ เพราะข้อมูลต่าง ๆ ผลิตขึ้นง่าย ส่งต่อได้ง่าย จนบางคนก็มีผลประโยชน์ทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นรับรีวิว เครื่องมือเดี๋ยวนี้สะดวกมากขึ้น ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ Live สด ได้ในมือถือเครื่องเดียว ฝั่งผู้รับข้อมูลก็เข้าถึง Content พวกนี้ได้ง่าย และยิ่ง Content เรื่องกินเป็นอะไรที่ดึงดูดคนไทยอยู่แล้ว โลกออนไลน์จึงเข้ามามีส่วนสำคัญในการตัดสินใจของใครหลายคนไปโดยปริยาย เช่นเวลาไม่รู้จะไปกินอะไร ไปกินร้านไหน ก็หยิบมือถือขึ้นมาดูรีวิวก่อน” คุณเอกลักษณ์เสริม
เทคโนโลยีที่ทันสมัย กลายเป็นช่องทางเชื่อมให้ผู้บริโภคเข้าถึง Content อาหารในโลกออนไลน์ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น สื่อโซเชียลต่าง ๆ จึงกลายมามีบทบาทสำคัญ และหลายครั้งก็อยู่เบื้องหลังกระแสความนิยมของอาหารหลากหลายเมนูไม่ว่าจะเป็นครัวซองก์ ยำ หมาล่า บิงซู หรืออีกหลากหลายเมนู ที่ได้รับความนิยมล้นหลาม หลังกลายเป็นกระแสไวรัล ในโลกออนไลน์
นอกจากเครื่องดื่มและขนมหวานแล้ว ยังมีเรื่องราววัฒนธรรมการกินในเมืองกรุงเทพฯ อีกมาก ที่ใครหลายคนอาจยังไม่เคยรู้ สำรวจต่อพร้อมกันในรูปแบบ Data Journalism ผ่านเว็บไซต์ Interactive ได้แล้วที่ The Visual Food Story: Culture and Trend คนเมืองกับเรื่องกิน https://thevisual.thaipbs.or.th/BKKFoodCulture