นโยบาย “สวน 15 นาที” ของ กทม.ที่อยากให้คนเข้าถึง “พื้นที่สีเขียว” เป็นเพียงภาพฝัน หรือ ทำให้จริงได้
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) ชวนคนกรุงร่วมหาคำตอบจากกิจกรรม “แฮกกรุงเทพฯ เพื่อเมืองที่เขียวกว่า”
“เข้าไม่ถึงพื้นที่บริการสาธารณะ ปัญหาคนเมือง”
เมื่อวานนี้ (3 ก.ย. 65) UDDC ร่วมกับ กทม. และภาคีพัฒนาเมือง จัดกิจกรรม “แฮกกรุงเทพฯ เพื่อเมืองที่เขียวกว่า” ชวนคนกรุงร่วมคิด ทำอย่างไรให้ กทม. เป็นเมืองที่ทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ใน 15 นาที
ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวย UDDC กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูล ตั้งแต่ปี 2560 พบว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณะ เป็นปัญหาใหญ่ของคน กทม. แต่หนักสุด คือ การเข้าถึงพื้นที่สวนสาธารณะ
องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดมาตรฐานให้เมืองแต่ละเมืองควรมีพื้นที่สีเขียว เฉลี่ย 9 ตร.ม./คน และคนต้องเข้าถึงสวนสาธารณะไม่เกิน 500 เมตร หรือเดินทางไม่ควรเกิน 10 – 15 นาที แต่ กทม. มีค่าเฉลี่ย อยู่ที่ 7.6 ตร.ม./คน ส่วนระยะทางในการเข้าถึง เฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง
ที่มาของแนวคิด “สวน 15 นาที” จึงไม่ใช่แค่ภาพฝัน หรือแค่วาทกรรมทางการเมือง แต่เป็นการทำให้ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก หรือผู้สูงอายุ สามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้อย่างเท่าเทียมกัน และเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนด้วย
“นโยบายสวน 15 นาที ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ จึงมาถูกทาง แต่คำถามสำคัญคือ จะทำให้เกิดขึ้นจริงได้ยังไง กทม. มีเครื่องมือครบหรือยัง และใช้ได้จริงไหม” ดร.นิรมล กล่าว
“เขียว 15 นาที กทม. ทำได้จริงไหม”
จะเอาที่ดินที่ไหนมาตอบสร้างสวนสาธารณะ ผู้อำนวยการ UDDC ระบุว่า ควรเริ่มจากการหาพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม ทั้งที่ดินของรัฐ และเอกชน
UDDC พบว่า กทม. มีมากถึง 15 เขต ที่มีความเร่งด่วนในเชิงยุทธศาสตร์ที่ต้องเร่งพัฒนาก่อน เนื่องจากไม่มีพื้นที่สีเขียว หรือมีอยู่น้อยมาก แต่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น ได้แก่ พระโขนง บางนา วัฒนา สวนหลวง ห้วยขวาง วังทองหลาง บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ธนบุรี จอมทอง ภาษีเจริญ บางแค หลักสี่ และดอนเมือง
ถ้าดูที่ดินของรัฐ จากการศึกษาพบว่า หากรวมเอาพื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่โล่งตามผังเมืองรวม และพื้นที่ ก็จะสามารถเพิ่มค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวได้ 8.9 ตร.ม./คน
แต่จะก้าวไปให้ถึง 18.9 ตร.ม./คน ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็ต้องรวมเอาพื้นที่วัด สถานที่ราชการ พื้นที่ริมถนนทั้งสายหลักและสายรอง และพื้นที่สวนหลังอาคารขนาดใหญ่ เข้ามาด้วย
“แม้พื้นที่สีเขียวเฉลี่ยต่อคนจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อดูค่าเฉลี่ยการเข้าถึงพื้นที่สวนสาธารณะที่ใกล้ที่สุดของคน กทม. ก็ยังอยู่ที่ 30 นาที หรือประมาณ 2.5 กิโลเมตร ยังไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 15 นาที การนำที่ดินรอที่รอการพัฒนาของเอกชน ก็จะช่วยเติมเต็มในส่วนนี้ได้”
ผู้อำนวยการ UDDC กล่าวว่า การจะจูงใจภาคเอกชนด้วยมาตรการทางภาษีที่ดินอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่อาจต้องเพิ่มมาตรการเชิงบวก เช่น สิทธิประโยชน์จากภาษีเงินได้ โดยการปลดล็อกให้เอกชนสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้
“เปิดโจทย์แฮก ชวนคนกรุงร่วมหาคำตอบ”
แม้ความรู้ที่ใช้ในการดันพื้นที่สีเขียว จะเน้นการออกแบบเมือง แต่ผู้อำนวยการ UDDC ยืนยันยังต้องการองค์ความรู้สาขาอื่นๆ มาช่วยหาคำตอบที่ดีที่สุด
นี่จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมนี้ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด โดยมีโจทย์ที่อยากให้ช่วยหาคำตอบ ดังนี้
จะมีมาตรการอะไรที่สามารถจูงใจภาคเอกชนให้เข้าร่วมมากขึ้น การสร้างสมดุลระหว่างผลได้และผลเสียของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียจากการนำที่ดินมาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ งบประมาณที่เพียงพอในการพัฒนาสวนสาธารณะควรมาจากไหน และที่สำคัญคือ จะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่และผู้ใช้งานสวนสาธารณะอย่างไร เพื่อมั่นใจว่า เป็นการพัฒนาที่ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง
“ไม่จำเป็นต้องเป็นสถาปนิก ใครก็เสนอความเห็นเข้ามาได้ เพราะความยากอยู่ที่มาตรการ เลยขอเชิญชวนทุกคนมาช่วยหาคำตอบ ต้องการไอเดียที่ทำได้จริง”
หลังจากนี้จะมีการจัดกิจกรรมพูดคุยพัฒนาแนวคิดการเพิ่มพื้นที่ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา ก่อนจะประกาศผลไอเดียที่ได้รับเลือกในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ โดยผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่เพจเฟซบุ๊ก UDDC
รองศานนท์ ย้ำ “สวน 15 นาที” เป็น นโยบาย หลัก
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่าสวน 15 นาที เป็นอีกนโยบายสำคัญของ กทม. แต่มีโจทย์ท้าทายต้องคิด หลายข้อ ทั้งเรื่องที่ดิน ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของเอกชน และที่ดินของหน่วยงานรัฐด้วยกัน จะเอางบประมาณมาจากไหน และจะออกแบบสวนเป็นอย่างไรให้ตอบโจทย์คนในพื้นที่
“วันนี้เป็นเหมือนการเปิดโอกาสให้ กทม. ได้มาเห็นข้อมูล อย่างที่ได้เห็นข้อมูลว่าเขตพระโขนงที่ไม่มีสวนเลย แต่ที่นี่ก็มีเอกชนและภาคีที่พร้อมจะพัฒนาที่ดินเป็นสวนสาธารณะ และทางสำนักเขตเองก็กระตือรือร้น”
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ความร่วมมือใน 4 เกลียว คือ รัฐ เอกชน วิชาการ และประชาสังคม เป็นแนวทางการทำงานที่ผู้ว่าฯ ย้ำมาตลอด การจัดกิจกรรมนี้เป็นการเพิ่มมิติให้ภาคประชาสังคมได้เข้ามาร่วมออกแบบด้วย โดย กทม. ก็จะนำรูปแบบการจัดกิจกรรมแบบนี้ไปปรับใช้หลังจากนี้ในอีกหลายพื้นที่
ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2556 – 2562 #พื้นที่สีเขียว ในกรุงเทพฯ เขตไหนเพิ่มขึ้นบ้าง ทุกท่านสามารถดูข้อมูลได้ผ่าน Data Visualization ของ The Visual ได้ที่ https://thevisual.thaipbs.or.th/BangkokGreenSpace #TheVisualbyThaiPBS