loader image
ข้ามไปยังเนื้อหา

เคยคิดกันไหมว่า
ถ้า “จังหวัด” ที่เราอยู่มีแต่ “ผู้สูงอายุ” จะเป็นอย่างไร ?

เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่าน สังคมรอบตัวย่อมมีการเปลี่ยนแปลง
จาก “ผู้สูงอายุ” ที่มี “เด็ก” รายล้อม กลับเหลือเพียงภาพของ “ผู้สูงอายุ” เท่านั้น
ภาพเช่นนี้สะท้อนความน่ากังวลอย่างไร ?
ทำไมเราต้องมานั่งคำนึง ?

“ผู้สูงอายุ” หมายถึงประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ มักถูกเรียกว่า กลุ่มคนวัยเกษียณ ความหมายโดยนัย คือ พวกเขาปลดระวางจากการทำงานแล้ว

จากแผนที่ประเทศไทยด้านล่างนี้

The Visual ชวนทุกคนสำรวจรายจังหวัด แล้วจะเห็นว่า “จังหวัด” ที่คุณอยู่นั้น เมื่อคิดเป็นสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุต่อประชากรทุกช่วงวัยทั้งหมดในจังหวัดนั้น อยู่ในเกณฑ์ที่น่ากังวล (เกิน 30%) หรือไม่ ?

เพราะนั่นหมายถึงว่า จังหวัดที่คุณอาศัยอยู่กำลังอยู่ในระดับที่น่าเสี่ยง ในภาวะที่เราอาจบอกได้ว่า “ระบบ” ต่าง ๆ ยังไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม

ผลกระทบ ! เมื่อโครงสร้างประชากรกลายเป็น​ "พีระมิด" กลับด้าน

จากสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุในภาพด้านบน มีการประเมินผลกระทบจากการที่สังคมไทยกำลังจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” (Aging Society) ไว้หลากหลายความเห็น โดยหนึ่งในนั้น คือ กรมกิจการผู้สูงอายุ ที่มีการไล่เรียงเป็นข้อ ๆ ได้อย่างน่าสนใจ

  • อายุของคนไทยจะยืนยาวขึ้น : ยิ่งอายุยืนยาวขึ้น ทำให้ยิ่งต้องเตรียมเงินเยอะขึ้น
  • ค่ารักษาพยาบาลมีแต่แพงขึ้น : ผู้สูงอายุมีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลต่อการเข้าโรงพยาบาล 1 ครั้ง อยู่ที่ 30,000 กว่าบาท และจะสูงกว่าคนที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุอยู่ประมาณ 10,000 กว่าบาท
  • โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลง : ประชากรวัยทำงานก็มีน้อยลง การพัฒนาประเทศก็จะช้าลง ทำให้เศรษฐกิจก็จะโตช้าลงด้วย

รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. มองปัญหา “สังคมสูงวัย” ของไทย ณ ปัจจุบัน ว่า ถ้าไทยไม่วางระบบให้ดี นั่นคือ มีผู้สูงอายุจำนวนมากและมีคนเกิดน้อย เมื่อนั้นประชากรในไทยก็จะลดลง ส่งผลให้คนวัยทำงานลดลง

แต่ถ้าจะ “บรรเทา” ก็พอมี คือ

  1. ต้องขยายอายุการทำงาน

  2. ต้องเร่งการเกิดให้มากขึ้น

  3. ต้องเริ่มคิดที่จะดึงชาวต่างชาติที่มีฝีมือ มีความรู้ความสามารถ และรักประเทศไทย ให้เข้ามาทำงานในไทย โดยต้องพิสูจน์ว่าเขามีความสามารถและเราขาดแคลน เมื่อเขามาอยู่นานแล้ว ก็ดูว่าพูดไทยได้ไหม เข้าใจสังคมไทยแค่ไหน นายจ้างว่าอย่างไร

ที่น่าเป็นห่วง คือ คนไปทำงานต่างจังหวัด (ต่างถิ่น) ถ้าไม่ประสบความสำเร็จก็กลับบ้าน ลองคิดดูว่า แก่แล้ว ไม่ประสบความสำเร็จ กลับบ้าน พระเจ้าช่วย ! คนในต่างจังหวัดจะมีแต่ผู้สูงอายุและไม่ประสบความสำเร็จด้วย ต้องกระจายให้ท้องถิ่นสร้างระบบ

รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า ถ้ากระจุกอยู่ส่วนกลาง คิดว่า ในแต่ละจังหวัด ตำบล หรือหมู่บ้าน โครงสร้างผู้สูงอายุ คนวัยทำงาน และเด็ก ไม่เหมือนกันเลย เช่น จ.ลำปาง ที่ติดอันดับ TOP ผู้สูงอายุมาก ถ้ายังผูกนโยบายอยู่ส่วนกลาง แก้ไม่ได้ ต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ซึ่ง “สังคมสูงวัย” เกิดไม่เท่ากัน ภาคใต้ไม่ค่อยมีปัญหา

“ส่วนกลางต้องกระจายการลงทุน แหล่งจ้างงาน ให้อยู่ต่างจังหวัด”

ย้อนไปดูข้อมูลการสำรวจรายได้หลังเกษียณของผู้สูงอายุในไทยปี 2560 เห็นได้ว่า ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งพึ่งพิงรายได้จากบุตและเบี้ยยังชีพมากขึ้น สวนทางกับรายได้จากบำเหน็จบำนาญและรายได้จากการทำงานที่ลดลง

สิ่งที่น่าสนใจคือ อนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ เมื่อผู้สูงอายุไทยมีแนวโน้มอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น หรือทางออกของปัญหานี้จะจบลงที่ “คนไทยไม่ได้เกษียณตอนอายุ 60 ปี” เหมือนเช่นที่ผ่านมา

The Visual ชวนคุณสำรวจแหล่งรายได้ของผู้สูงอายุไทยใน 3 ระบบ ได้แก่ อดีตข้าราชการ, อดีตแรงงานเอกชน และแรงงานนอกระบบ รวมถึงภาพการเปลี่ยนแปลงประชากรที่เกิดขึ้นทั่วโลก 👉 www.thaipbs.or.th/TheVisualRetirement

Facebook
X (Twitter)