ทุกคนรู้ดีว่าประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” แล้ว ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 29 มี.ค. 67 ระบุว่าคนไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 66,031,263 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็น “ผู้สูงอายุ” หรือ ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 13,284,418 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20.11% จากจำนวนคนไทยทั้งประเทศ
ไทยก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (Aged society) หรือ การมีประชากรสูงวัยเกิน 20% จากสัดส่วนประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มขยับสูงขึ้นเรื่อย ๆ
วัยผู้สูงอายุอาจถูกมองเป็นเรื่องไกลตัวของใครหลายคน จึงไม่ได้ออกแบบชีวิตหลังเกษียณ ทั้งเรื่องเงิน สุขภาพ และที่อยู่อาศัย เสี่ยงติดกับดักความยากจนได้
ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์พิเศษ ดร. ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งศึกษาวิจัยประเด็นสังคมสูงวัย ถามและตอบไว้น่าสนใจ ดังนี้
ผู้สูงอายุไทย มีความมั่นคงหลังเกษียณ หรือยัง ?
ดร. ทีปกร กล่าวว่า มีงานวิจัยมากมายที่บ่งชี้ว่า ผู้สูงอายุไทยยังไม่มีความมั่นคงเพียงพอ ที่จะสามารถดำรงชีพได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปัจจุบันมีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่พึ่งพิง หรือมีรายได้หลักมาจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งให้เงินจำนวนน้อยเหลือเกิน ส่วนคนจำนวนมากก็ไม่มีเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณ อาจเพราะเราไม่มีระบบที่เอื้อให้คนออมเงินมากขึ้น นิสัยการออมก็เป็นส่วนหนึ่ง ทำให้พอถึงวัยเกษียณหลายคนต้องกลายมาเป็นคนที่ยากไร้
“ส่วนคนที่มีโอกาสทำงานเป็นข้าราชการ เขาจะมีบำนาญที่สามารถรองรับในชีวิตวัยเกษียณ แต่คนจำนวนมากไม่ได้เป็นข้าราชการ โดยเฉพาะคนที่ทำงานนอกระบบ พอถึงอายุที่ต้องเกษียณแล้วพวกเขาก็ยังคงต้องทำงานต่อไป เนื่องจากไม่สามารถมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เบี้ยผู้สูงอายุก็ให้น้อย จึงต้องทำงานหาเลี้ยงชีพต่อไป”
ดร. ทีปกร เสนอเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ จากปัจจุบันที่จัดสรรแบบขั้นบันไดคนละ 600-1,000 บาท เป็นให้ขั้นต่ำที่ 2,000 บาทต่อเดือน พร้อมย้ำนี่ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่สามารถทำได้จริง
“จากที่เคยคำนวณ โดยใช้ข้อมูลของปี พ.ศ. 2563 แสดงให้เห็นว่าขั้นต่ำที่จะคุ้มครองความยากจนได้ อยู่ที่ 2,000 บาทต่อเดือน จะคุ้มครองกลุ่มที่ยากจนที่สุด เช่น ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, กลุ่มแม่หม้ายที่เป็นหัวหน้าครัวเรือน, ชาวไทยภูเขาภาคเหนือ คนพวกนี้คือกลุ่มที่จนที่สุด เปราะบางที่สุด แต่ทั้งนี้ เส้นความยากจนปัจจุบันอยู่ที่เกือบ 3,000 บาทต่อเดือนแล้ว”
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สำคัญหรือไม่ ?
ดร. ทีปกร กล่าวว่า การให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นประโยชน์อย่างแน่นอน อย่างน้อย ๆ ทำให้เขาสามารถมีชีวิตได้ในขั้นพื้นฐาน เป็นเรื่องการคุ้มครองความยากจน ในเชิงเศรษฐศาสตร์มหภาค คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเป็นเงินกระจายทุกครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุ แน่นอนว่าพอเขามีเงิน เขาจะจับจ่ายใช้สอย ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น แทนที่ทรัพยากรที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ถูกดูดไปบนยอดพีระมิดอยู่แค่ไม่กี่ตระกูล แต่เรากระจายมาเพื่อทั้งสังคมและเศรษฐกิจ
“เราได้เห็นแล้วในยุคโควิด เงินสวัสดิการต่าง ๆ มันช่วยรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ หากมีช็อกอะไรเกิดขึ้น จะช่วยประคองไม่ให้ตกวูบลงไป ที่สำคัญเป็นเครื่องมือช่วยลดความเหลื่อมล้ำ”
กรณีล่าสุดกับการประกาศเกณฑ์ใหม่จัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ของกระทรวงมหาดไทย ที่จะให้เฉพาะผู้สูงอายุยากจนเท่านั้น ดร. ธีปกร มองว่า ประเทศไทยกำลังเดินถอยหลัง เรื่องความคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ
เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นทางออกเรื่องนี้จริงหรือ ?
ดร. ทีปกร เชื่อถึงความเป็นไปได้ของการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รัฐบาลสามารถทำได้แน่นอน หากรู้จักบริหารจัดการและปฏิรูประบบจัดเก็บภาษี
“ถ้าคิดตามกรอบตามว่าปล่อยให้คนที่ได้เปรียบ ได้โอกาส ได้เทกไปให้มากที่สุด หรือใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ ไปซื้อเรือดำน้ำ ซื้ออาวุธต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น ปล่อยให้มีการคอร์รัปชันกันเละเทะ ถ้าคิดแบบปล่อยให้ประเทศเป็นแบบนี้ ก็แน่นอนว่าไม่มีเงิน แต่สมมุติว่าเราใช้เครื่องมือทางการคลังจัดสรรให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ตามหลักภาษี หลักงบประมาณตามหลักเศรษฐศาสตร์ เราจะมีเงินเพียงพอที่จะนำมาใช้สวัสดิการคุ้มครองความยากจนให้กับผู้สูงอายุ”
ดร. ทีปกร กล่าวอีกว่า นอกจากเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ ที่สำคัญควรต้องทำให้มีระบบทำให้คนต้องออม อย่างน้อยที่สุดต้องเริ่มต้นออมตั้งแต่วัยทำงาน มีระบบฐานข้อมูล มีการจัดการการออม มีแรงจูงใจว่าหากคุ้มครองความยากจนหลังเกษียณที่ 2,000 บาทต่อเดือน บวกกับเงินออมที่ทุกคนต้องออมเอง โดยมีรัฐบาลร่วมสมทบในสัดส่วนเดียวกัน ซึ่งจากการคำนวณทางวิจัย สามารถเพิ่มระดับนี้ได้ถึง 6,000 บาทต่อเดือน และในระยะยาวงบประมาณตรงนี้ จะน้อยกว่างบประมาณบำเหน็จบำนาญข้าราชการในอีก 20 ปีข้างหน้าอีก
“คงดูไม่จืดเลยว่าอีก 20 ปี ข้างหน้าที่คนไทย 1 ใน 3 เป็นผู้สูงอายุ มีคนจนเต็มไปหมด แล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้ ขณะที่วัยแรงงานเหลือน้อย ต้องทำงานแบกผู้สูงอายุ ไหนจะค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอีก”
ระบบบำนาญปัจจุบัน เพียงพอแล้วหรือยัง ?
ดร. ทีปกรย้ำถึงความสำคัญของการมีและต้องเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รวมกับระบบการออมเงินของประชาชน ที่ได้รับการสมทบอย่างเหมาะสมจากรัฐบาล นี่คือระบบสวัสดิการที่รัฐควรมี ซึ่งเมื่อดูระบบสวัสดิการปัจจุบันแล้วนั้น ดร. ทีปกร บอกว่า ไม่พอ
“แต่ถือว่าประเทศไทยมาได้ถูกทิศทางแล้ว ที่มีระบบคุ้มครองทางสังคมให้ผู้สูงอายุที่มั่นคงกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ แต่ส่วนที่เหลือยังค่อนข้างลำบาก แม้จะเป็นผู้ที่มีการร่วมสมทบเองอย่างประกันสังคมก็ตาม ก็ทราบดีว่าเบี้ยบำเหน็จบำนาญหลังผู้ประกันตนเกษียณแล้ว เงินน้อยมาก แทบไม่พอยังชีพ ส่วนกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แม้เพิ่งเปลี่ยนแปลงเพดานเงินออมและเงินสมทบจากรัฐ แต่รวม ๆ ก็ยังออมได้น้อยมาก และจำนวนสมาชิกที่ร่วมออมจะมีเท่าไหร่กัน”
“ระบบควรเป็นการกวาดทุกคนเข้าสู่ระบบตั้งแต่แรกที่ทำงานเลย ซึ่งมีตัวอย่างที่ดีในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ประเทศในยุโรป แต่อย่างไรก็ตาม เราทราบว่าเขามีระบบที่ดี มั่นคง เราทราบมา 20 ปี แต่ถึงวันที่เขาเป็นสังคมสูงวัย มีสัดส่วนผู้สูงอายุ 1 ใน 3 ของประเทศ เขาลำบากมากในเรื่องของบำนาญต่าง ๆ เพราะเงินสมทบวัยทำงานในปัจจุบัน ที่จะไปจ่ายให้ผู้สูงอายุไม่พอ เพราะวัยแรงงานลดลง ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”
ดร. ทีปกร แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ “สึนามิประชากร” ของประเทศไทย ที่ปัจจุบันยุคเบบี้บูม หรือช่วงที่มีเด็กเกิดใหม่เกิน 1 ล้านคน ตอนนี้เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว ฉะนั้นประเทศไทยกำลังมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคน และจะเป็นอย่างนี้ต่อเนื่องไปอีก 20 ปี
“ก็ต้องถามว่าระบบที่เราพึงปรารถนา เราจะไม่รีบมีกันสักทีหรือ เราควรรีบทำได้แล้ว ควรเลิกศึกษาได้แล้ว”
มองว่าต้องทำอย่างไร ผู้สูงอายุไทยถึงมีความมั่นคงหลังเกษียณ ?
ดร. ทีปกร กล่าวว่า จะคล้าย ๆ ที่กล่าวไปข้างต้นคือ ผมมีข้อเสนอจากโครงการวิจัยว่าไทยควรมีระบบบำนาญแห่งชาติ มีแหล่งรายได้ที่เพียงพอและยั่งยืน สร้างความเป็นธรรมแก่สังคม สิ่งที่ควรทำคือ กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นระบบที่ส่งเสริมให้ทุกคนออมเงิน ซึ่งต้องเริ่มจากการมีฐานข้อมูล ตอนนี้สิ่งที่พร้อมแล้วคือ กฎหมาย ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว ได้อภิปรายและเห็นชอบแทบเป็นเอกฉันท์ ในรายงานการแก้ไขกฎหมายสำหรับระบบบำนาญแห่งชาติ ซึ่งจัดทำโดย กมธ.สวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ฉะนั้นในทางเทคนิคพร้อมแล้ว เหลือแต่ขาดลงมือทำ
ส่วนแหล่งรายได้ที่จะหามาทำได้ เริ่มจากปฏิรูปภาษีของประเทศตามข้อเสนอนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศ ที่เสนอเรื่องนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว ไม่ว่าปฏิรูปภาษีทรัพย์สิน ยกเว้นการลดหย่อนภาษีกับคนรวย ยกเว้นการลดหย่อนของ BOI ซึ่งไม่คุ้มเลย ที่สำคัญคือ ควรปฏิรูปงบประมาณ ให้ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด ไม่ใช่ใช้โดยไม่มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือ การออมของประชาชนตั้งแต่วัยทำงาน เพื่อไม่ให้ความยากจนในช่วงชีวิตตั้งแต่เด็ก ส่งต่อความยากจนจนถึงวัยผู้สูงอายุ
หลายคนกังวลการปฏิรูประบบภาษี ทำให้ราคาข้าวแพงขึ้น ?
ดร. ทีปกร กล่าวว่า หลายประเด็นในเรื่องนี้ แต่อย่างแรกเลยคือ ยังไงประเทศไทยก็ต้องขึ้นภาษี ในภาพรวมคือ ศักยภาพในการจัดเก็บรายได้เป็นภาษี เมื่อคิดเป็นภาพรวมของ GDP ไทยมีต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น ซึ่ง VAT เป็นเครื่องมือที่ขึ้นง่าย เพราะกฎหมายพร้อมแล้ว ที่เราเป็น 7% ทุกวันนี้ เป็นการลดหย่อนจากเรตที่ต้องเป็นคือ 10% แต่เราไม่มีใครกล้าขึ้น ฉะนั้นจะขึ้นในทางเทคนิคคือขึ้นได้เลย แต่เป็นตัวที่ไม่เป็นที่นิยมที่สุด เพราะส่งผลกระทบทั้งหมด
“อย่างสมมุติเพิ่ม VAT เป็น 10% คือเพิ่ม 3% หากไม่ควบคุม ข้าวของจะขึ้นขั้นต่ำ 5-10% ซึ่งอาจไม่ง่ายหากจะขึ้น แต่มีสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เสนอคือ Earmark VAT คือการขึ้น VAT แล้วกำหนดว่าจะเอาเงินส่วนไหนไปทำอะไร ซึ่งจริง ๆ แล้วนักเศรษฐศาสตร์การคลังอาจไม่ชอบ เพราะขัดหลักการทั่วไปทางการคลังที่ควรเอามาไว้ตรงกลางแล้วจัดสรรผ่านกลไกรัฐสภา แต่มีประเทศที่เขาทำตรงนี้กันงบไว้ใช้ทำสวัสดิการประชาชน ซึ่งผมสนับสนุนตรงนี้ เพราะชัดเจนว่าการเพิ่ม VAT แล้วจะไม่เอาเงินไปซื้อเครื่องบิน เรือดำน้ำ การปฏิรูปภาษีเป็นเรื่องปกติ เสนอกันมานานแล้ว แต่ทำไม่สำเร็จ”
ต่างประเทศ จัดการเรื่องความมั่นคงหลังเกษียณอย่างไร ?
ดร. ทีปกร กล่าวว่า มีตัวอย่างที่ดีหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มีความพยายามจะให้ส่งเสริมจ้างงานผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้สิทธิลดหย่อนทางภาษีเป็นต้น สังเกตเวลาไปเที่ยวญี่ปุ่นผู้สูงอายุจะทำงานตามที่ต่าง ๆ ค่อนข้างมาก แต่เราไม่เห็นภาพแบบนั้นในเมืองไทย ที่มีการจ้างงานผู้สูงอายุสักเท่าไหร่ ค่อนข้างน้อย และที่สำคัญ เราควรขยายโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะปรับกฎหมายบางอย่าง เพื่อให้สามารถจ้างงานผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีได้
“จริง ๆ แล้วในแง่โครงสร้างประชากร ผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 60-69 ปี ส่วนมากยังมีพฤฒิพลัง คือ มีทั้งความสามารถ มีพลังร่างกาย สติปัญญา ที่สามารถทำงานได้อยู่ คิดว่าคนที่อยากทำงานต่อ ควรได้โอกาสทำงาน คิดว่าจะมีประโยชน์กว่า”
ดร. ทีปกร อธิบายถึงประเทศญี่ปุ่นเพิ่มว่า แม้เป็นประเทศตัวอย่างที่ดีเรื่องของการเตรียมความพร้อมการคุ้มครองความยากจนในสูงวัย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ ปัญหาเศรษฐกิจระดับมหภาคของเขา เนื่องจากสัดส่วนผู้สูงอายุมาก จะหางบประมาณจากไหนมาดูแลผู้สูงอายุ ขณะที่เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตสูงได้อีกต่อไป ด้วยกำลังแรงงานที่ลดลง
อะไรคือ ตัวชี้วัดความสำเร็จ มาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ?
ดร. ทีปกร กล่าวว่า คิดว่าเป้าหมายคือ ความยากจนของผู้สูงอายุ อันนี้ตรงไปตรงมาที่สุด ว่าหากเราสามารถคุ้มครองไม่ให้มีความยากจนในผู้สูงอายุได้ ก็ถือว่าเราสามารถทำได้สำเร็จ หากจำนวนผู้สูงอายุ 1 ใน 10 ของประเทศยังเป็นคนยากจน และเป็นในหลายจังหวัด เช่น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลาย ๆ จังหวัดในภาคอีสาน ภาคเหนือ หรือในกลุ่มผู้สูงอายุมาก ๆ แปลว่าน่าจะมีปัญหาในเรื่องการบริหารจัดเรื่องการพัฒนาประเทศ
มองเรื่อง การขยายเกษียณอายุอย่างไร ?
ดร. ทีปกร มองว่า การขยายโอกาสให้คนสามารถทำงานได้หลังเกษียณอายุ หลักพื้นฐานควรเป็นเรื่องของความสมัครใจ เราคงไม่สามารถบังคับได้ง่าย ว่าจะต้องขยายเวลาในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีคุ้มครองบำนาญมั่นคงแล้ว คงไม่ต้องการเช่นนั้น แต่ความเป็นจริง คนจำนวนมากในสังคมไทยไม่สามารถอยู่ได้ง่าย โดยเฉพาะในวัยเกษียณอายุ
“สิ่งที่เราควรทำคือ ต้องส่งเสริมให้เขามีโอกาสทำงาน ในช่วงวัยเกษียณ ซึ่งแน่นอนว่าหากเขามีโอกาสทำงาน เขาจะมีส่วนร่วมช่วยสร้างเศรษฐกิจได้ น่าจะเป็นประโยชน์อย่างแน่นอน”
ไทยพีบีเอส ส่องแนวทางการขยายอายุเกษียณ กำลังเป็นแนวทางที่หลายประเทศทั่วโลกทำอยู่ หลายประเทศพัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา เริ่มขยายอายุเกษียณไปมากกว่า 60 ปีแล้ว ส่วนประเทศไทยขยายเกษียณอายุเกิน 60 ปี ในส่วนข้าราชการขยายเฉพาะบางสาขา ส่วนเอกชนก็แล้วแต่สาขาอาชีพและความสามารถ ส่วนแรงงานนอกระบบไม่มีเกษียณอายุ
กรณีฝรั่งเศสประกาศขยายเกษียณอายุ แล้วเกิดการต่อต้าน ?
ดร. ทีปกร กล่าวว่า ฝรั่งเศสมีความจำเป็นของระบบ พอสังคมเข้าสู่สังคมสูงวัย มีปัญหาทางการคลัง ว่าจะเอาเงินวัยทำงานไปเลี้ยงดูแลคนวัยเกษียณ พอเขามีปัญหานี้ จึงมีแนวคิดจะขยายเกษียณอายุ แต่ด้วยวัฒนธรรมการประท้วงของฝรั่งเศส เลยเกิดเป็นแรงต่อต้านขึ้นมา ส่วนหนึ่งเพราะเขามีระบบที่ดี คุ้มครองว่าหากเกษียณแล้วเขาจะมีความมั่นคง รัฐจะเลี้ยงดู ส่วนเงินมาจากไหน เงินไม่ได้ลอยมาจากฟ้า แต่มาจากวัยทำงาน
“แต่ในเมื่อให้ทำงานมากขึ้น เขาไม่ยอม แต่ส่วนตัวคิดว่าแรงกดดันแบบนี้ในประเทศไทย จะน้อยกว่า เพราะผู้สูงอายุจำนวนมาก ซึ่งให้สัมภาษณ์ตามสื่อต่าง ๆ หรือที่ดูจากไทยพีบีเอสสัมภาษณ์มา ผู้สูงอายุยังจำเป็นต้องทำงาน เพราะไม่งั้นไม่มีกิน ฉะนั้นคนจำนวนมากหากยังอยากทำงาน ก็ควรมีระบบที่เอื้อให้เขาสามารถทำงานได้ และแน่นอนว่าหากเขาทำงานต่อได้หลังอายุ 60 ปี เขายังสามารถเก็บออมได้ เพื่อใช้กับตัวเองในวันที่ไม่มีแรงทำงาน”
คนไทยปลูกฝัง "ลูกต้องเลี้ยงพ่อแม่ยามแก่เฒ่า" ช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่ ?
ดร. ทีปกร กล่าวว่า ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี โชคดีที่เรามีวัฒนธรรมดูแลคุณพ่อคุณแม่ เป็นสิ่งที่ดีมากในสังคมไทย แต่เราก็ต้องย้อนกลับไปปัญหาเชิงโครงสร้าง ว่าจริง ๆ แล้วเราควรมีระบบเอื้อให้คนวัยทำงานไม่ต้องแบกพ่อแม่หนักเกินไปไหม ด้วยการคนที่เป็นพ่อแม่สมัยทำงานมีโอกาสได้เก็บออมเงิน หรือมีเครื่องมือทางการคลังที่สามารถสร้างระบบคุ้มครองขั้นพื้นฐานคนในสังคมได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุในนามแก่ชรา
“เราไม่ควรบอกว่าดีเนอะคนไทยมีความกตัญญูดูแลพ่อแม่ แต่จะใช้เป็นเหตุผลที่จะไม่มีระบบรองรับตรงนี้ มันก็ไม่ใช่”
หากไทยยังเดินไปด้วยมาตรการที่มีอยู่ จะเป็นอย่างไร ?
“คาดว่าหายนะแน่นอน หากมองประเทศที่มีระบบบำนาญที่มั่นคงแข็งแรง เช่น อิตาลี สวีเดน เยอรมัน ญี่ปุ่น ซึ่งตอนนี้เขาเข้าสู่สังคมสูงวัย อย่างประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่วิกฤตประชากร มีปัญหาผู้สูงอายุเพิ่มมากเกินไป ฉะนั้นในการประคองเศรษฐกิจได้ มันลำบากมาก ถึงแม้ว่าจะมีระบบที่มั่นคงแข็งแรงอยู่แล้ว แล้วลองมานึกถึงประเทศไทยที่ตอนนี้ยังไม่มีอะไร”
ดร. ทีปกร กล่าวว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้อัตราการเกิดลดลง จะยิ่งทำให้อัตราการเร่งของสังคมสูงวัยของไทยเร็วขึ้น ย้อนกลับมาว่าถ้าไทยไม่มีระบบรองรับเลย หายนะแน่นอน เพราะเราเห็นแล้วว่าในประเทศพัฒนาแล้วที่มีระบบดี พอผู้สูงอายุมาก ๆ เขาลำบากขนาดไหน
ยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ ระบบบำนาญไม่ดีนัก ผู้สูงอายุพอสมควร มีคนรุ่นย่า ยาย ไปยืนขายบริการทางเพศ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศของเขา เราคงไม่อยากให้ประเทศเผชิญวิกฤตความยากจนในผู้สูงอายุอย่างแน่นอน
“เรื่องผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องง่าย หากผู้นำไม่มีเจตจำนงทางการเมือง ตัวอย่างบัตรทองที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นประเทศเพิ่งซวนเซและท่ามกลางเสียงคัดค้านว่าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จนวันนี้กลายเป็นความสำเร็จ ความภาคภูมิใจของประเทศไทยที่ได้รับการยกย่องจากนานาชาติ กลายเป็นเป้าหมายมนุษยชาติว่าไทยทำได้”
“เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน หากมีเสียงเรียกร้องมากพอจากสังคม ซึ่งจริง ๆ เป็นฉันทามติของสังคมที่อยากให้ปรากฏเป็นจริงขึ้นมา” ดร. ธีปกร กล่าวทิ้งท้าย
📖 อ่านเพิ่มเติม :
• เช็ก 10 อาการเสี่ยงผู้สูงอายุต้องรู้ เฝ้าระวัง-อยู่อย่างเข้าใจกัน