ตุลาคมนับเป็นอีกเดือนที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศ ของวันสำคัญและเทศกาลเกี่ยวกับอาหารมากมาย เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ซึ่งตรงกับวันมังสวิรัติโลก (World Vegetarian Day) ที่กำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมไลฟ์สไตล์การกินอาหารแบบมังสวิรัติ พร้อมพูดถึงประเด็นสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพ ตามมาด้วยเทศกาลกินเจ ซึ่งถือเป็นอีกเทศกาลสำคัญของปีที่หลายคนให้ความสนใจเข้าร่วม ก่อนจะสิ้นสุดไปเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา และในวันที่ 16 ต.ค. นี้ ก็ยังถือเป็นอีกวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของกิน นั่นก็คือ วันอาหารโลก (World Food Day) อันตรงกับวันก่อตั้งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ โดยกำหนดขึ้นเพื่อมุ่งสื่อสารประเด็นเกี่ยวกับความอดอยาก และความมั่นคงทางอาหารในระดับนานาชาติ
บรรยากาศเรื่องอาหารกำลังมาแบบนี้ The Visual Thai PBS จึงอยากขอชวนผู้อ่านทุกท่าน ไปสำรวจเรื่องราวของกินใกล้ตัวภายในกรุงเทพมหานคร ที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความแตกต่าง หลากหลาย และซับซ้อนของอาหาร ซึ่งนอกจากรสชาติแสนอร่อยแล้ว อาหารเหล่านี้ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวน่าสนใจมากมายที่สะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรม และเทรนด์บางอย่างที่ใครหลายคนอาจยังไม่เคยรู้
The Visual ทำการรวบรวมข้อมูลจำนวนร้านอาหาร ในปี 2020 จากฐานข้อมูลของ Wongnai Data Service กว่า 100,000 ร้าน ทุกเขต ทั่วกรุงเทพฯ และนำมาวิเคราะห์ ก่อนจะพบเรื่องเล่าน่าสนใจที่ซ่อนอยู่ภายใต้ร้านอาหารเหล่านี้
ภาพรวมน่าสนใจที่เราได้จากฐานข้อมูล คือปรากฏการณ์การเติบโตของธุรกิจอาหารซึ่งแม้ช่วงปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อแทบทุกภาคส่วนของสังคม แต่ดูเหมือนแวดวงอาหารจะยังพอมีหนทางให้ไปต่อได้ ในปี 2020 ธุรกิจร้านอาหาร ถือได้ว่ายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในอาหารยอดนิยมบางชนิด เช่น ยำ หมาล่า ปิ้งย่าง และอีกมากมาย ยังมีจำนวนหน้าร้านอาหารเปิดใหม่ ที่เพิ่มมากขึ้นกว่าในปี 2019 เสียอีก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะร้านอาหารจำนวนมากเริ่มมีการปรับกลยุทธ์การขาย โดยเพิ่มตัวเลือกของการจัดส่งอาหารถึงบ้าน หรือ Delivery เข้ามา ทำให้ บรรดาลูกค้าผู้มีข้อจำกัดในการเดินทางท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด ยังคงสามารถสั่งอาหารจานโปรดจากที่บ้านของตัวเองได้
โดยหากมองเจาะลึกลงไปเฉพาะร้านอาหารที่ให้บริการแบบ Delivery เราจะเห็นปรากฏการณ์การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจากข้อมูลของ Wongnai พบว่าช่วงปี 2016-2019 ร้านที่เปิดขายอาหารแบบ Delivery มีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียง 200-300 ร้านต่อปีเท่านั้น แต่ในปี 2020 ร้านอาหารแบบ Delivery กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้น มากถึง 2,778 ร้าน ภายในปีเดียว
นอกจากนี้ The Visual ยังได้ทำการจำแนกข้อมูลร้านอาหารออกเป็นประเภทต่าง ๆ ก่อนจะได้พบกับเรื่องราวน่าสนใจอีกหลายเรื่อง เช่น หากเรามองเจาะจงไปที่ร้านขายอาหารคาว จะพบว่าเทรนด์การเติบโตของ “ร้านขายยำ” เป็นอีกปรากฏการณ์ในแวดวงอาหารที่น่าสนใจ โดยนอกจากจะเป็นร้านขายอาหารคาวที่มีจำนวนมากที่สุดในกรุงเทพฯ ถึง 17,364 ร้าน แล้ว ร้านขายยำยังมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยมีจำนวนหน้าร้านเปิดใหม่มากถึง 13,966 ร้าน ภายในเวลาเพียง 2 ปี แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างร้านก๋วยเตี๋ยว และ Street Food แบบไม่เห็นฝุ่น
การเติบโตแบบทวีคูณของร้านขายยำ นอกจากจะสะท้อนธรรมชาติของอาหารชนิดนี้ที่มีรสชาติจัดจ้าน ถูกปากคนไทย และสามารถนำไปประยุกต์ดัดแปลงได้กับหลากหลายวัตถุดิบแล้ว “ยำ” ยังเป็นเมนูที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมการรีวิว ในโลก Social Media ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อชีวิตประจำวันของเราทุกคนในยุคปัจจุบันนี้
ยังมีเรื่องเล่าอีกมากมาย รอคอยถูกบอกบรรยายผ่านร้านอาหาร ซึ่งเราอาจยังไม่เคยรู้ The Visual Thai PBS จึงอยากเชิญชวนผู้อ่านสายกินทุกท่าน มาร่วมสำรวจวิถีชีวิต วัฒนธรรม และเทรนด์ ผ่านร้านอาหารในกรุงเทพฯ ไปพร้อม ๆกันกับ The Visual Food Story: Culture and Trend คนเมืองกับเรื่องกิน
เลือกชิมในรูปแบบ Interactive ได้แล้วที่ https://thevisual.thaipbs.or.th/BKKFoodCulture