loader image

อาหารญี่ปุ่น: รสชาติแปลกถิ่น…ที่คนไทยอินไม่มีเบื่อ

                กรุงเทพฯ เรียกได้ว่าเป็นมหานครที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารมาแต่ไหนแต่ไร ไม่ว่าจะด้วยวัฒนธรรมการกินที่หลากหลาย หรือความอุดมสมบูรณ์ของเมนูมากมาย หลายประเภท หลายภูมิภาค แต่เหนืออื่นใด อีกไฮไลต์ของไลฟสไตล์การกินอาหารในเมืองกรุงเทพฯ ก็คือการมีอาหารจากหลากหลายสัญชาติให้เลือกสรร ตั้งแต่ที่ได้รับความนิยมสูงอย่างจีน เกาหลี ไปจนถึงสัญชาติที่อาจจะหากินได้ยากหน่อยในต่างจังหวัด เช่น อาหารอินเดีย หรือ เม็กซิกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าจะถามถึงอาหารต่างชาติที่ยืนหนึ่งในด้านคะแนนความนิยม “อาหารญี่ปุ่น” คงเป็นคำตอบที่อยู่ในใจใครหลายคนอย่างไม่ต้องสงสัย  

               สายสัมพันธ์ระหว่างอาหารญี่ปุ่นและคนไทยนั้นมีความเป็นมาอย่างยาวนานสืบย้อนกลับไปได้ถึงสมัยอยุธยา หรือแม้แต่ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ก็มีเอกสารทางประวัตศาสตร์หลายชิ้นที่เอ่ยถึงอาหารญี่ปุ่นบางเมนู ที่มีรับประทานกันในหมู่ชนชั้นสูง ปัจจุบันอาหารญี่ปุ่นได้วิวัฒนาการกลายเป็นเมนูสุดฮิตที่ได้รับความนิยมจากทุกเพศ ทุกวัย โดยจากการสำรวจล่าสุดของ Wongnai ในปี 2020 พบว่า ถ้าจำแนกร้านอาหารภายในกรุงเทพฯ ออกเป็นสัญชาติต่าง ๆ อาหารญี่ปุ่นถือได้ว่ามีจำนวนร้านมากที่สุด ถึง 3,899 ร้าน เทียบกับอาหารจีนซึ่งมีอยู่ 2,889 ร้าน และอาหารเกาหลีที่มี 1,073 ร้าน

.

               โดยหากจะพูดเจาะจงถึงร้านอาหารญี่ปุ่นสมัยใหม่ ก็อาจต้องย้อนกลับไปมองถึงยุค 80s ซึ่งเป็นช่วงที่วัฒนธรรมญี่ปุ่นเริ่มเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในไทยผ่าน Soft Power ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นละคร มังงะ วิดีโอเกม หรือภาพยนตร์ ก่อนจะตามมาด้วยห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่นแห่งแรกอย่าง Daimaru โดยกระแสวัฒนธรรมเหล่านี้ก็ได้พัดพาอาหารการกินแบบญี่ปุ่น เข้ามาแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยด้วย

               ผศ.ดร.วรวุฒิ จิราสมบัติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยยุคแรก ๆ ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ก็คือร้าน Fuji ซึ่งเริ่มกิจการราวปี พ.ศ. 2526 หรือ ค.ศ. 1983 โดยช่วงแรกแม้จะไม่ได้ประสบความสำเร็จถล่มทลาย เนื่องจากรสชาติอาหารที่ยังค่อนข้างแปลกใหม่ และไม่เป็นที่คุ้นเคยของคนไทย ณ ขณะนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ร้าน Fuji รวมถึงร้านอาหารญี่ปุ่นอีกหลายร้านก็เริ่มปรับเปลี่ยน โดยมีการเพิ่มรสชาติเผ็ด หรือเปรี้ยวเข้าไปในบางเมนู เพื่อให้ถูกปากคนไทยมากยิ่งขึ้น รวมถึงเปลี่ยนแหล่งซื้อหาวัตถุดิบ จากที่ปกติต้องนำเข้าจากญี่ปุ่นเท่านั้น ก็หันมานำเข้าจากแหล่งอื่นที่มีราคาถูกกว่าเพื่อลดต้นทุน ทำให้ร้านอาหารญี่ปุ่นหลายร้านสามารถขายในราคาที่ถูกลง และขยายกลุ่มลูกค้าให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ก่อนจะกลายมาเป็นหนึ่งในอาหารต่างสัญชาติ ที่คนไทยนิยมกินมากที่สุดในทุกวันนี้

.

               นอกจากราคาที่จับต้องได้มากขึ้นแล้ว อาหารญี่ปุ่นยังมีเสน่ห์เฉพาะตัวที่ทำให้ใครหลาย ๆ คน หลงรักได้ไม่ยาก 

               “ถ้ายุคหนึ่งก็จะมีคนพูดเรื่องสุขภาพ อาหารญี่ปุ่นจะไม่ค่อยใช้น้ำมัน ไม่เลี่ยน ย่อยง่าย บางคนเลยรู้สึกว่าเวลาไปกินปลาย่าง หรือปลาดิบ แล้วจะรู้สึกว่าย่อยง่าย ถ้ากินตอนเที่ยง มื้อเย็นก็รู้สึกว่ากินได้อีก เพราะไม่หนัก ไม่แน่นเกินไป รวมไปถึงวิธีการทำที่พิถีพิถัน และก็เรื่องของการนำเสนอ ซึ่งพูดมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วว่าอาหารญี่ปุ่น เขากินด้วยตา ไม่ใช่กินด้วยปากอย่างเดียว คือต้องสวย มีการประดิดประดอย อีกทั้งยังมีความละเอียดลออกับรายละเอียดต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ บางร้านขอซื้อกลับเขาก็ไม่ขายนะ เพราะกลัวว่าพออุณหภูมิเปลี่ยน อาหารจะเสียรส หรือมีผลต่อสุขภาพ” ดร.วรวุฒิ อธิบาย 

               ปัจจุบัน อาหารญี่ปุ่นถือเป็นอีกเทรนด์ร้านอาหารที่เติบโตอย่างสม่ำเสมอ โดยการเลือกรับประทาน ทั้งในกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัดก็ไม่ใช่เรื่องยาก นอกเหนือจากประเภทอาหารที่เราคุ้นหู คุ้นตากันอยู่แล้วอย่าง ปิ้งย่าง ชาบู ซูชิ หรือ ราเม็ง ยังมีร้านอาหารญี่ปุ่นอีกหลายสไตล์ที่ค่อย ๆ ได้รับความ นิยมมากขึ้นทุกวัน เช่น โอมากาเซะ หรือร้านอาหารสไตล์ “ตามใจเชฟ” ที่ลูกค้าจะได้มีโอกาสนั่งดูเชฟปรุงอาหาร อย่างใกล้ชิด โดยเชฟจะเป็นผู้เลือกเมนูอาหารให้รับประทานเอง หรือร้านสไตล์ อิซากายะ ซึ่งเป็นร้านอาหารแนว เน้นสังสรรค์ โดยมีเอกลักษณ์ตรงที่จะขายอาหาร พร้อมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบญี่ปุ่นที่มีให้เลือกมากมาย

.

               นอกจากอาหารญี่ปุ่นแล้ว ยังมีเรื่องราววัฒนธรรมการกินในเมืองกรุงเทพฯ อีกมาก ที่ใครหลายคนอาจยังไม่เคยรู้ สำรวจต่อพร้อมกันในรูปแบบ Data Journalism ผ่านเว็บไซต์ Interactive ได้แล้วที่ The Visual Food Story: Culture and Trend คนเมืองกับเรื่องกิน https://thevisual.thaipbs.or.th/BKKFoodCulture

Like This? Share It!