loader image

เปิดรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2565

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2565 พบต้นทุนค่าใช้จ่ายจริงในการใช้ชีวิตของครัวเรือนผู้ปกครองและนักเรียนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภคด้านอาหารและการเดินทางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ดัชนีราคาผู้บริโภคด้านการศึกษาจะมีแนวโน้มลดลง ทำให้ครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายประจำวันในด้านต่าง ๆ ที่สูงขึ้น และอาจจะส่งผลต่อกำลังในการสนับสนุนการศึกษาให้บุตรหลานลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มครอบครัวผู้ยากจน ด้อยโอกาส

พิษเศรษฐกิจทำเด็กยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 5 ปี

จากการสำรวจสถานการณ์นักเรียนยากจนพิเศษในระดับการศึกษาภาคบังคับ (อนุบาล – ม.3) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563-2565 พบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 994,428 คน, ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 มีจำนวน 1,174,444 คน, ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,244,591 คน, ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,301,366 คน, และล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีจำนวนมากถึง 1,307,152 คน

ที่มา : รายงานฉบับพิเศษสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2565 : กสศ.

หากลงลึกถึงระดับความเข้มข้นของจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษ ข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือของ กสศ. ที่สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย พบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 1,307,152 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้

โดย 10 จังหวัดแรกที่มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวนมากที่สุด ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ได้แก่ 1.อุบลราชธานี 85,440 คน, 2. ศรีสะเกษ 72,606 คน, 3. บุรีรัมย์ 63,073 คน, 4. นราธิวาส 62,051 คน, 5. ร้อยเอ็ด   58,874 คน, 6. สกลนคร 56,544 คน, 7. สุรินทร์ 49,500 คน, 8. กาฬสินธุ์ 48,822 คน, 9. ขอนแก่น48,738 คน และ 10. ปัตตานี 44,788 คน

เมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาและตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาของโรคระบาดโควิด-19 พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น มีแนวโน้มว่าน่าจะมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากมาตรการป้องกันต่าง ๆ และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยพบภาวะยากจนเฉียบพลันของประชากรและรายได้ต่อครัวเรือนที่ลดลงต่อเนื่อง

“หากพิจารณาโดยใช้รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า มีเด็กและเยาวชนอายุ 3-14 ปี จำนวนกว่า 2.5 ล้านคน อยู่ใต้เส้นความยากจน เนื่องจากมีรายได้ต่ำกว่า 2,762 บาทต่อคน/เดือน”

 

และหากเปรียบเทียบข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษของ กสศ. ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2563 จนถึง 2565 พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของเด็กยากจน ลดลงมากถึงร้อยละ 5 โดยตัวเลขล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ของปี 2565 พบว่า รายได้เฉลี่ยของครอบครัวนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษอยู่ที่ 1,044 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นวันละ 34 บาทเท่านั้น

ปัญหาปากท้องและค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับ สู่ความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา

จากข้อมูลบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (National Education Account : NEA) ของ กสศ. แสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนเหล่านี้ ต้องแบกรับภาระของรายจ่ายด้านการศึกษาหากเทียบเป็นสัดส่วนต่อรายได้ สูงกว่าครัวเรือนที่ร่ำรวยถึง 4 เท่า นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการหลุดออกนอกระบบการศึกษาของเด็กยากจนก่อนจบการศึกษาภาคบังคับ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้พวกเขาไม่สามารถหลุดพ้นออกจากวงจรของความยากจนแบบข้ามรุ่นได้

“ตัวอย่างที่ชัดที่สุด สะท้อนจากผลสำรวจระดับการศึกษาของผู้ปกครองนักเรียนยากจนพิเศษ พบว่า มากกว่าร้อยละ 50 จบการศึกษาสูงสุดเพียงระดับประถมศึกษา มีเพียงร้อยละ 0.9 เท่านั้นที่จบการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า”

รายได้ไม่แน่นอน พึ่งพิงสวัสดิการรัฐ

จากการศึกษาถึงแหล่งรายได้ของครอบครัวนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 พบว่า รายได้ของผู้ปกครองร้อยละ 59 มาจากสวัสดิการรัฐและเอกชน รองลงมาร้อยละ 53.9 คือ เงินเดือนหรือค่าจ้าง และรายได้จากการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 42.4 ตามลำดับ เมื่อรายได้ที่ต่ำสวนทางกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นแหล่งรายรับของครอบครัวเด็กยากจนพิเศษเกินกว่าครึ่ง จึงมาจากสวัสดิการรัฐและเอกชน ในขณะที่รายได้จากภาคการเกษตรมีความไม่แน่นอนสูง

นอกจากนี้หากประมวลปัญหาของนักเรียนยากจนพิเศษซึ่งควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน พบว่ามีสภาพครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิง มีผู้พิการ เจ็บป่วยเรื้อรัง หรืออยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างหรือแยกทางกัน หรืออาศัยอยู่กับปู่ย่าตายายหรือญาติ โดยมีนักเรียนยากจนพิเศษที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่กว่าร้อยละ 38 และอาศัยอยู่ในครอบครัวยากจนที่มีสมาชิก 5 คน ขึ้นไป โดยที่มีผู้ปกครองลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐกว่าร้อยละ 31

“เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข” ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้วยวิธีมุ่งเป้า

เพื่อปิดจุดเสี่ยงการหลุดออกจากระบบการศึกษา ที่มาจากภาระค่าใช้จ่าย บวกปัจจัยทางเศรษฐกิจและครอบครัว กสศ. จึงทำโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือ “ทุนเสมอภาค” เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรอง ให้รอดพ้นจากเส้นวิกฤตความจน

ด้วยการจัดสรรเงินสนับสนุนคนละ 3,000 บาทต่อปี เพิ่มเติมจากเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนของ สพฐ. เป็นค่าครองชีพเพื่อให้เด็กสามารถเดินทางมาเรียนได้อย่างต่อเนื่อง มีค่ากิจกรรมพัฒนาทักษะและค่าอาหารเพื่อให้อิ่มท้องพร้อมรับการเรียนรู้ ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องรักษาอัตราการมาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมด และต้องทำการบันทึกน้ำหนักส่วนสูงติดตามพัฒนาการเจริญเติบโตตามเกณฑ์และสมวัย

โดยในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 สพฐ. ได้จัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนไปยังนักเรียนทั้งสิ้น 1,595,875 คน ขณะเดียวกัน กสศ. ก็ได้จัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาคให้นักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มเติมอีกจำนวน 1,266,001 คน ครอบคลุมสถานศึกษาทั้งหมด 27,527 แห่งทั่วประเทศ

“ผลจากการดำเนินการ สะท้อนผ่านอัตราการมาเรียนที่เพิ่มขึ้นของนักเรียนทุนเสมอภาค ช่วยยืนยันว่านักเรียนที่เคยได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. และทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจาก สพฐ. มีโอกาสที่จะได้ไปต่อในระดับอุดมศึกษา”

โดยปี 2561 มีนักเรียนชั้น ม.3 ได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. และทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานฯ จาก สพฐ. รวม 148,021 คน ต่อมาปีการศึกษา 2564 พบว่า นักเรียนกลุ่มนี้เรียนอยู่ชั้น ม.6 ในโรงเรียน สพฐ. 62,042 คน และ กสศ. ได้เชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนที่เข้าศึกษาต่อผ่านระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) ปีการศึกษา 2565  พบว่า มีเด็กที่ได้รับความช่วยเหลือจากการคัดกรองนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษของ กสศ. เมื่อปีการศึกษา 2561 ยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบ TCAS ในปีการศึกษา 2565 จำนวน 20,018 คน กระจายอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 75 แห่ง

เมื่อจำแนกตามประเภทของสถาบันอุดมศึกษา พบว่า นักเรียนยากจนและยากจนพิเศษสามารถเข้าศึกษาต่อในกลุ่มมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐมากที่สุด 7,599 คน คิดเป็นร้อยละ 38 รองลงมา คือ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ 5,891 คน คิดเป็นร้อยละ 29 กลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐ 5,132 คน คิดเป็นร้อยละ 26 กลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล 1,235 คน คิดเป็นร้อยละ 6 กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชนและอื่น ๆ 161 คน คิดเป็นร้อยละ 1 ในจำนวนทั้งหมดนี้ พบว่ามีนักเรียน 6 คน สามารถสอบเข้ากลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และเข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นของ กสศ. 25 คน

เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนลดผลกระทบจากเงินเฟ้อ  ต่อลมหายใจเด็กยากจน แก้เหลื่อมล้ำถูกทาง

แม้ “เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาคสำหรับนักเรียนยากจนพิเศษ” และ “ทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน” ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเรียนฟรี 15 ปี  จะช่วยคลี่คลายปัญหาภาระค่าใช้จ่ายการศึกษาของ

กลุ่มครัวเรือนใต้เส้นความยากจน แต่ปรากฎว่า อัตราเงินเฟ้อที่มากขึ้นในปัจจุบันส่งผลให้มูลค่าที่แท้จริงของงบประมาณในการช่วยเหลือคนรายได้น้อยในระบบการศึกษานั้นลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ประมาณการมูลค่าทุนเสมอภาค พบว่า ทุนเสมอภาคที่เคยอุดหนุนให้กับนักเรียนยากจนพิเศษในปีการศึกษา 2561 จำนวน 3,000 บาท หากคำนวณใหม่ในปี 2566 ที่มีแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อขึ้นไปร้อยละ 3.1 พบว่ามูลค่าที่แท้จริงลดลงเหลือเพียง 2,728 บาท

เช่นเดียวเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนในระดับประถมศึกษาที่เคยอุดหนุนในปี 2554 จำนวน 1,000 บาทต่อคนต่อปี หรือวันละ 5 บาท และในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3,000 บาทต่อคนต่อปี หรือวันละ 15 บาท คิดมูลค่าที่แท้จริงตามอัตราเงินเฟ้อในปี 2566 พบว่าเหลือเพียง 840 บาท และ 2,521 บาทตามลำดับ ซึ่งไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพและสถานการณ์เงินเฟ้อที่คาดการณ์ว่าจะสูงถึงร้อยละ 4-5 และมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอีกในอนาคต

อนุบาล – ม.ปลาย ความเหลื่อมล้ำของนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ที่ยังรอแก้ไข

อุปสรรคสำคัญที่ยังเป็นช่องโหว่ของนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อีกประการ คือ เงินอุุดหนุนรายการปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ยังไม่ครอบคลุมนักเรียนยากจนในระดับปฐมวัยและระดับมัธยมปลาย (ม.4-ม.6) ทำให้นักเรียนด้อยโอกาส หรือนักเรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงกว่า 2.5 ล้านคน ซึ่งอยู่กับครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเส้นความยากจนของสภาพัฒน์ฯ ที่ 2,762 บาทต่อคน/เดือน มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

“มีงานวิจัยจำนวนมากระบุว่า เด็กปฐมวัย เป็นช่วงวัยที่สำคัญสูงสุดในการลงทุนเพื่อสร้างพัฒนาการเรียนรู้ แต่ปัจจุบันยังขาดการสนับสนุนทางการศึกษาที่เหมาะสมให้เด็กกลุ่มนี้ จึงเป็นช่องว่างของนโยบายเรียนฟรี 15 ที่ไม่สามารถเป็นสะพานแห่งการเรียนรู้ และส่งให้เด็กคนหนึ่งเรียนได้ตลอดรอดฝั่งเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้เด็กไทยได้”

เร่งช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยทางการศึกษา สู่ทางออกจากกับดักความยากจน

เมื่อรายได้ของ “มนุษย์ผู้อยู่ภายใต้ระบบการศึกษา” ยังคงลดลง สวนทางกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น กำลังซื้อทางการศึกษาจึงเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันการหลุดออกจากระบบ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในระบบการศึกษา จึงเปรียบเสมือนการลงทุนสร้างความเสมอภาคแทบทุกมิติ ในการช่วยให้นักเรียนที่อยู่ในครอบครัวรายได้ต่ำหลุดพ้นเส้นความยากจน

เพราะท้ายที่สุดผลลัพธ์ของความเสมอภาคทางการศึกษาจะทำให้พวกเขามีโอกาสในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสู่สังคม ผ่านการเข้าไปสู่ระบบฐานภาษี ซึ่งจะเป็นวงจรที่ส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมให้ดียิ่งขึ้น

“กสศ. จึงมีเป้าหมายเพื่อพยุงอำนาจและกำลังซื้อให้ผู้ปกครองกลุ่มยากจนที่สุดร้อยละ 15 ของประเทศ ให้ยังคงมีกำลังส่งบุตรหลานให้อยู่ในระบบการศึกษา ผ่านการลงทุนด้านการศึกษา โดยเป้าหมายคือทำให้นักเรียนที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนในปีนี้กว่า 2.5 ล้านคน เข้าสู่ระบบฐานภาษีต่อไป”

อย่างไรก็ตามการเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายผ่าน “การจัดสวัสดิการแบบเท่ากันทุกคน (Universal)”  อาจยังมีข้อจำกัดทางการเงินการคลังของประเทศ ข้อเสนอของ กสศ. ในเบื้องต้น จึงมุ่งเน้นไปที่การปรับอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนและทุนเสมอภาคในกรอบงบประมาณ 2567 ที่ไม่ได้มีการปรับอัตรามากว่า 15 ปี ผ่าน “การจัดสวัสดิการแบบมุ่งเป้า (Targeting) หรือ การเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขให้เด็กยากจนมากขึ้น” เพื่อให้สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายตามครัวเรือนจริง

ข้อเสนอด้านอัตราอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ สำหรับงบประมาณ 2567 โดยการปรับปรุงอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน และปรับปรุงอัตราทุนเสมอภาค เริ่มตั้งแต่ระดับการศึกษาปฐมวัย-มัธยมปลาย โดยจัดให้รายหัว ระดับอนุบาล 4,000 บาท / ระดับประถม 5,100 บาท / ระดับมัธยมต้น 4,500 บาท / ระดับมัธยมปลาย 9,100 บาท

ข้อเสนอเชิงคุณภาพ โดยการจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข เพื่อติดตามผลการคงอยู่ในระบบการศึกษาของผู้เรียนและการศึกษาต่อหลังขั้นพื้นฐาน รวมถึงติดตามผลด้านพัฒนาการด้านกายภาพและการเรียนรู้ และการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลและระบบส่งต่อการทำงานและติดตามนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ป้องกันการหลุดออกจากระบบซ้ำ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 7 กระทรวง เพื่อต่อยอดจาก ‘โครงการพาน้องกลับมาเรียน’

ส่วนเป้าหมายในอนาคต ให้เพิ่มอัตราการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าของนักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษให้สูงกว่าร้อยละ 20 ภายใน 5 ปี ส่วนเยาวชนจากครัวเรือนยากจน/ยากจนพิเศษ ก็ต้องก้าวออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่น เข้าสู่ระบบฐานภาษีและรายได้เฉลี่ยถึงระดับรายได้สูงภายใน 10 ปี

ดร.ภูมิศรัณย์ ย้ำว่า หากประเทศไทยสามารถสร้างประชากรที่มีคุณภาพ เด็กไม่หลุดออกนอกระบบ สามารถสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ เด็กได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูมีคุณภาพ โรงเรียนมีคุณภาพ เด็กมีทักษะทั้งด้านวิชาการและทักษะด้านอื่นๆ ที่จำเป็นและเหมาะตามวัย ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจระดับประเทศ

“นี่คือ ความจำเป็นที่รัฐบาลต้องลงทุนในเรื่องการศึกษาและลงทุนในการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ เพราะต้นทุนของการที่เราไม่ทำอะไรหรือต้นทุนของการปล่อยให้ปัญหานี้มันยังอยู่ต่อไป ท้ายที่สุดผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่เพียงตัวเด็กในระดับปัจเจกแต่เป็นระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย”

Like This? Share It!