loader image
ข้ามไปยังเนื้อหา

“เอ็ดดูธอน-Eduthon” สนามประลองปัญญาเด็กชายขอบ

เป็นครั้งแรกที่ “จ.น่าน” จัดงาน “เอ็ดดูธอน-Eduthon” กิจกรรมประลองปัญญาของนักเรียนจาก 23 โรงเรียนในพื้นที่ จ.น่าน ผ่านการเรียนการสอนแบบใหม่ของ “โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา” ที่มีนักวิชาการด้านการปฏิรูปการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา และภาคเอกชน ให้การสนับสนุนและเป็นครูพี่เลี้ยง

การแข่งขันเริ่มตั้งแต่กลางเดือน ก.ย. แต่ละรอบการแข่งขันจะคัดเลือกทีมที่ทำโครงงานตามโจทย์ สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาชุมชนในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยรอบชิงชนะเลิศมีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้ารอบทั้งหมด 6 ทีม ทุกโรงเรียนต้องสร้างโครงงานภายใต้โจทย์ “ความลับของบ้านฉัน”

แต่ละโรงเรียนหยิบเอาสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาต่อยอดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างรายได้ เช่น โรงเรียนปัว ที่นำมะแขว่น ผลิตเป็นผงปรุงรส ทั้งรสดั้งเดิม รสสาหร่าย และรสข้าวโพด โดยเด็ก ๆ คิดค้นและทดลองด้วยตนเอง จนหาสูตรที่ลงตัวสำเร็จ

สำหรับโรงเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ได้แก่ โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา และโรงเรียนนาหมื่น ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ โรงเรียนจุนวิทยาคม โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 และโรงเรียนปัว

โครงการ “น่านเพาะพันธุ์ปัญญา” มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาครูให้มีทักษะการสอน มุ่งเน้นให้นักเรียนเกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์ ศึกษาหาข้อมูลความรู้ พร้อมกับใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหาในท้องถิ่นของตนเอง ผ่านหลักการ “ถามคือสอน สะท้อนคิดคือเรียน เขียนคือคิด”

รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้ถ่ายทอดกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญา กล่าวว่า การที่ไม่ติดเครื่องมือ แต่เน้นใช้ระบบคิด ทำให้ไม่มีข้อจำกัดว่า โรงเรียนจะต้องมีเครื่องมือ ยิ่งโรงเรียนไม่มีเครื่องมือ ยิ่งมีประโยชน์ ยิ่งได้โอกาส



“การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เราไม่จำเป็นต้อง

ลงทุนในเครื่องไม้เครื่องมือมาก แต่เราลงทุนพัฒนาครูให้สามารถใช้เรื่องราวรอบตัวให้เป็นโจทย์ให้เด็กคิด แล้วเด็กก็จะมีความพึงพอใจในสิ่งที่ตนเองต้องเรียนหนังสือ เพราะเรียนแล้วเห็นมันเชื่อมโยงกับชีวิตเขา พอมันเชื่อมโยง เขาก็เห็นประโยชน์ในการเรียน เขาก็จะใฝ่เรียนมากขึ้น”

โดยปัจจุบัน จ.น่าน โรงเรียนต้นแบบ 30 แห่ง มีครูเข้าร่วมโครงการ 161 คน เด็กนักเรียน 1,277 คน และมีการนำเสนอโครงการ 195 โครงการ

#TheVisualbyThaiPBS อยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจปัญหา ร่วมกันออกแบบระบบการศึกษาไทย เพื่อไม่ให้ใครต้องหลุดออกนอกระบบระหว่างทาง และพา “เพื่อนที่หายไป” กลับห้องเรียน 👉https://thevisual.thaipbs.or.th/drop-out-students/main/