loader image
ข้ามไปยังเนื้อหา

อว. – กสศ. ร่วมอุดช่องโหว่ ช่วยเด็กยากจนเรียนจบมหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 65 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดประชุมร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เดินหน้าพัฒนาระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา หลังพบเด็กยากจนพิเศษกว่า 20,000 คน สอบติด TCAS เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 1 – 2%

โดย กสศ. ได้เปิดข้อมูลนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ ที่เคยได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. และทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อปี 2561 ขณะที่กำลังเรียนชั้น ม.3 จำนวน 148,021 คน

แต่จากการติดตามและเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนกลุ่มนี้ ที่เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาผ่านระบบ TCAS พบว่าลดเหลือเพียง 20,018 คน โดยแยกเป็นนักเรียนกลุ่มยากจน จำนวน 15,051 คน หรือ 14% และเป็นนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษจำนวน 4,967 คน หรือ 12%

ถ้าดูเฉพาะกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษ พบว่า มีเด็กที่หายไปจากระบบในช่วง ม.3 – ม.6 ก่อนที่จะไปถึงระดับอุดมศึกษามากถึง 36,917 คน หรือกว่า 80%

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขเด็กที่หลุดจากระบบยังสูง แต่ กสศ.พบว่า ตัวเลขเด็กที่ผ่านระบบ TCAS ของปีนี้ สูงกว่าปี 2564 ประมาณ 1 – 2% ถือเป็นแนวโน้มที่ดี และถือเป็นความก้าวหน้าของระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา

นอกจากนี้ ยังมีผลวิจัยพบว่า หากยังสามารถป้องกันเด็กทั้ง 20,018 คน ไม่ให้หลุดซ้ำในระหว่างที่ยังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เมื่อเด็กกลุ่มนี้เรียนจบและทำงาน ในอนาคตพวกเขาจะสามารถสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมากถึงประมาณ 72,000 ล้านบาท ซึ่งสูงมากหากเทียบกับมูลค่าทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ส่วนแนวทางการดูแลให้เด็กกลุ่มนี้ไม่หลุดซ้ำ กศส.เสนอให้มหาวิทยาลัยทำระบบข้อมูลเพื่อติดตามความคืบหน้าภายใต้หลักการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ดูแลด้านทุนการศึกษาเพิ่มเติม รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาทักษะชีวิตและอาชีพ เพื่อให้เด็กมีงานทำหลังเรียนจบ

 

The Visual By Thai PBS ชวนทำความเข้าใจปัญหา #DekDropOut และร่วมออกแบบระบบการศึกษาไทย เพื่อพา “เพื่อนที่หายไป” กลับห้องเรียน

https://thevisual.thaipbs.or.th/DropOutStudents