loader image
ข้ามไปยังเนื้อหา

ความหลากหลายทางเพศบนจอเงิน/จอแก้ว แท้จริงแล้ว “หลากหลาย” แค่ไหน?

การปรากฏตัวของ LGBTIQN บนสื่อบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือ ละคร คงไม่ใช่ภาพแปลกตาเท่าไหร่นักในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ นั่นคือลักษณะ บทบาทของคาแรกเตอร์กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่นับวันยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 หรือ 30 ปีก่อน ภาพ LGBTIQN ในภาพยนตร์หรือละครที่เราคุ้นเคย คงหนีไม่พ้นตัวละครสายตลกโปกฮา จริตจะก้านจัดจ้าน และไม่ได้มีฟังก์ชันอื่นใดมากไปกว่าการสร้างสีสัน แต่ปัจจุบันนี้ เราได้เห็นสื่อบันเทิงมากมาย กล้าที่จะขยับขยายบทบาทกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศให้กว้างขึ้น เราได้เห็น LGBTIQN ขึ้นมาเป็นตัวละครเอกในเรื่องเล่ามากขึ้น มองเห็นมุมมองความเป็นมนุษย์ด้านอื่น ๆ มากขึ้น ขณะเดียวกัน มายาคติล้าสมัยที่มองว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องตลก ต้องกล้าแสดงออก ฯลฯ นั้น ก็ค่อย ๆ ถูกบ่อนเซาะลงทีละน้อย

อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบันนี้ ในยุคที่การพูดคุยเรื่องความเสมอภาคทางเพศเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และมีรายละเอียดแตกแขนงย่อยออกไปหลายมิติ มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสื่อบันเทิงทั้งจากนักวิจารณ์และผู้ชมว่า เมื่อพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนแล้วความหลากหลายทางเพศบนจอภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์นั้น “หลากหลาย” อย่างแท้จริงหรือไม่? เพื่อหาคำตอบ The Visual ทำการสำรวจตัวละคร LGBTIQN ในสื่อภาพยนตร์/ซีรีส์ ทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 1,000 เรื่อง ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพื่อจำแนกสัดส่วนพื้นที่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศกลุ่มต่าง ๆ ก่อนนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ความหลากหลายที่คนดูอย่างเรารับรู้กันนั้น ในความเป็นจริงแล้วก็ยังไม่สามารถสะท้อนภาพกลุ่ม LGBTIQN ได้ครอบคลุมอย่างแท้จริง

gender-diversity-in-entertainment-industry

จากผลการสำรวจจะเห็นว่า ในบรรดาอัตลักษณ์ทางเพศทั้ง 7 ตัวอักษร (LGBTIQN) G หรือ Gay ดูเหมือนจะถือครองสัดส่วนพื้นที่ในสื่อมากที่สุด อย่างเช่นในซีรีส์ทาง LINE TV ซึ่งเป็นหนึ่งใน Platform Streaming ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย จากข้อมูลชี้ว่าตัวละคร Gay มีสัดส่วนคิดเป็น 89.52% ของคาแรกเตอร์ LGBTIQN บน LINE TV ทั้งหมด ขณะที่อีก 3 อัตลักษณ์ที่เหลืออย่าง Lesbian Bisexual มีปริมาณเท่า ๆ กันอยู่ที่ 4.76% และ Transgender อยู่ที่ 0.95% ยิ่งไปกว่านั้น จากการแบ่งภาพยนตร์/ซีรีส์ออกเป็นประเภทต่าง ๆ The Visual ยังพบอีกว่า มีสื่อบันเทิงบางประเภทที่ไม่เคยมีการนำเสนอภาพกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเลยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นั่นก็คือแอนิเมชันจากค่ายดิสนีย์ ซึ่งตัวละครทุกตัวล้วนเป็น Cisgender หรือ กลุ่มคนที่มีเพศสภาพตรงกับเพศสรีระโดยทั้งสิ้น ขณะที่บางอัตลักษณ์ก็ไม่เคยปรากฏหรือถูกหยิบยกมานำเสนอไม่ว่าจะในสื่อไหน ๆ ได้แก่ กลุ่ม I หรือ Intersex และ กลุ่ม Q หรือ Queer ด้วยเหตุนี้เมื่อย้อนกลับไปมองถึงแกนหลักของการนำเสนอความหลากหลายทางเพศ สถานการณ์ของสื่อบันเทิงในปัจจุบันจึงอาจยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร

นอกจากพื้นที่ของอัตลักษณ์ทางเพศกลุ่มต่าง ๆ จะมีสัดส่วนไม่เท่ากันแล้ว อีกประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตและถกเถียงอย่างกว้างขวางไม่แพ้กัน นั่นก็คือสถานภาพของตัวละคร LGBTIQN ที่ปรากฏบนสื่อ ภายใต้แนวคิดของการนำเสนอความหลากหลายในมนุษย์ นักวิชาการด้าน Gender Study หลายท่านมองว่า ตัวตนของ LGBTIQN บนสื่อบันเทิงนั้น กลับไปไหนไม่ได้ไกลเกินกว่าค่านิยมเดิม ๆ ของสังคม อย่างที่เห็นจากตัวละคร Gay Lesbian หรือ Transgender จำนวนมากในภาพยนตร์หรือละคร ที่มักจะมีภาพลักษณ์สวยหล่อ หน้าตาดี มีภูมิลำเนาอยู่ในเมือง เป็นชนชั้นกลาง หรืออยู่ในกรอบขนบอื่น ๆ ที่สังคมนิยมชมชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สิ่งนี้ย้อนกลับมาสู่คำถามตั้งต้นเดิมที่ว่า สื่อบันเทิงสามารถนำเสนอความหลากหลายได้อย่างแท้จริงหรือไม่

ดร.ชเนตตี ทินนาม นักวิชาการด้านเพศภาวะ/เพศวิถี และอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า มีภาพลักษณ์ของกลุ่ม LGBTIQN เพียงบางบทบาทเท่านั้น ที่ถูกดึงมาเพื่อ Represent ภาพชุมชนทั้งหมด ขณะที่ยังมีกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จากมิติและพื้นที่ชายขอบอื่น ๆ อีกมาก ที่สื่อยังไปไม่ถึงหรือยังไม่กล้าหาญพอที่จะนำเสนอ

“บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศที่จะถูกนำมาเสนอในภาพยนตร์ ละคร โฆษณา ส่วนใหญ่ก็ต้องหน้าตาดี ถ้าเป็น Gay ก็ต้องมีกล้ามเนื้อ มีรูปร่างที่ดึงดูด มีสีผิวที่เป็นที่นิยม ถ้าเป็น Transwoman ก็ต้องสวยขนาดที่ชนะผู้หญิง ลักษณะแบบนี้ถึงจะมีพื้นที่ในสื่อได้ หรือแม้แต่อายุก็จะจำกัดอยู่แค่วัยรุ่น หรือวัยทำงานเท่านั้น รวมถึงยังต้องเป็นกลุ่มที่กระจุกตัวในชุมชนเมือง มีความหรูหรา สะดวกสบาย ภาพ LGBTIQN ในมิติอื่น ๆ ปรากฏน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็น LGBTIQN ที่เป็นผู้สูงวัย เป็นคนชนบท หรือแม้แต่ในมิติศาสนา สื่อพยายามหลีกเลี่ยงบทบาทในแง่มุมนี้ เพราะอาจจะไม่กล้าหาญพอ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว LGBTIQN เขาก็ควรมีพื้นที่ทางศาสนา มันควรเป็นความเสมอภายในความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่ทางจิตวิญญาณ เข้าถึงความสงบสุขได้”

ดังนั้น เพื่อทำให้สื่อบันเทิงทั้งหลาย กลายเป็นพื้นที่แห่งความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริง นักวิชาการด้านเพศภาวะทิ้งท้ายว่า  สิ่งที่ผู้สร้าง ผู้กำกับ หรือนักเขียนบทสามารถทำได้ คือการอ้าแขนโอบอุ้มกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จากทุก ๆ อัตลักษณ์อย่างแท้จริง ให้พวกเขาได้มีพื้นที่เพื่อเปล่งเสียงและบอกเล่าเรื่องราว ล้อไปกับการพยายามพลิกวิธีคิดในการเล่าเรื่อง พร้อมกับเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีความเปราะบาง หรือเป็นรากฐานสำคัญอันทำให้ LGBTIQN ยังถูกเลือกปฏิบัติ อย่างเช่น มิติทางศาสนา ซึ่งพื้นเพเดิมมักตีตรากลุ่ม LGBTIQN ว่าเป็นผู้ผิดบาป โดยหากสื่อยังไม่สามารถนำเสนอแง่มุมใหม่ ๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายและศาสนาได้ ความเชื่อนี้จะกลายเป็นรากฐานซึ่งผลิตซ้ำอคติหรือแม้กระทั่งความรุนแรงต่อไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ

“...อย่าสร้างภาพเหมารวมโดยการบอกว่าเชิดชูความเท่าเทียมทางเพศ แต่เอาภาพของ LGBTIQN เพียงบางกลุ่มมาเป็น Representation….LGBTIQN ทุกกลุ่ม เขามีความหมาย เขามีชีวิต เขามีจิตใจ ถ้าคุณจะนำเสนอภาพ LGBTIQN เพียงแค่ว่า เขาคือ Gay เพียงแค่ว่าเขาคือ Transwoman แต่คุณลืม Intersex คุณลืม Queer ลืม Bisexual หรือ Lesbian ก็เท่ากับว่าคุณยังไม่ได้ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริง...”

📌 เนื่องในเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ หรือ Pride Month #ThaiPBS ขอเชิญร่วมสำรวจเรื่องราวความหลากหลายทางเพศ ซึ่งสะท้อนผ่านโลกซีรีส์และภาพยนตร์ สัมผัสข้อมูลด้วยตัวของคุณเองบนเว็บไซต์ในแบบ Interactive  พร้อมกันได้ที่ 👉🏻 thevisual.thaipbs.or.th #TheVisualThaiPBS #GenderOnScreen