การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นวิกฤติการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก ไม่เพียงแต่ในมิติด้านสาธารณสุข แต่รวมถึงความเป็นอยู่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม นอกจากนี้อีกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน นั่นก็คือระบบการศึกษา โควิด-19 ผลักให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับนักเรียน ผู้ปกครอง โรงเรียน ไปจนถึงรัฐ ต้องเผชิญหน้ากับสารพัดปัญหา ที่แม้กระทั่งตอนนี้หลายประเทศก็ยังไม่สามารถคิดหาทางออกที่ครบถ้วนสมบูรณ์ได้
จากการสำรวจของ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO บ่งชี้ว่า ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี นับตั้งแต่เชื้อโควิด-19 เริ่มระบาด ประชากรเด็กนักเรียนกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการปิดโรงเรียน และมีการประเมินว่าเด็กกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก กำลังประสบปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Losses) โดยเฉพาะ ทักษะด้านการอ่าน รวมไปถึงปัญหาสุขภาพจิต
UNESCO รวบรวมข้อมูล ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 – มิถุนายน 2021 พบว่า ในช่วงระยะเวลา 16 เดือนที่ผ่านมานี้ จาก 210 ประเทศทั่วโลก 38.6% ประกาศปิดโรงเรียนทั่วทั้งประเทศมาแล้วรวมเป็นระยะเวลา 11 – 20 สัปดาห์ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มนี้ โดยมีประกาศปิดโรงเรียนพร้อมกันทุกแห่งรวม 16 สัปดาห์ หรือ 4 เดือน ขณะที่ 6.7% ปิดทำการมาแล้วนานกว่า 40 สัปดาห์ หรือ 10 เดือน โดยปานามาเป็นประเทศที่มีการปิดโรงเรียนยาวนานที่สุดถึง 60 สัปดาห์ (1 ปี 3 เดือน)
การปิดสถานศึกษาผลักให้ทั้งคุณครู นักเรียน และผู้ปกครอง ต้องหันหน้าเข้าสู่การเรียนการสอนรูปแบบทางไกล (Remote Learning) อย่างไม่มีทางเลือก แต่คำถามสำคัญที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน สำหรับการเรียนทางไกลที่ไม่มีใครปฏิเสธได้
ในปี 2018 องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD เคยเก็บข้อมูลผ่าน โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ซึ่งสำรวจนักเรียนกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปี จำนวน 600,000 คน จาก 79 ระบบการศึกษาทั่วโลก เพื่อประเมินปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ของเด็ก พบว่า เฉลี่ยแล้ว 9% ของจำนวนเด็กที่สำรวจ ไม่มีสถานที่เงียบ ๆ ภายในบ้านที่เหมาะสมกับการเรียนหนังสือ โดยในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เด็กราว 30% โดยเฉลี่ย ไม่มีพื้นที่ดังกล่าว
สำหรับการเข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเรียนออนไลน์ ผลสำรวจชี้ว่าในประเทศแถบยุโรปอย่างเดนมาร์ก นอร์เวย์ ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ เด็กกว่า 95% มีคอมพิวเตอร์สำหรับใช้สอย ในทางตรงกันข้ามประเทศอย่างบราซิล เม็กซิโก เปรู ไทย มาเลเซีย ฯลฯ มีเด็กเฉลี่ยไม่ถึง 60% ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้าน
ในทำนองเดียวกันสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ โดยในหลายประเทศนับเป็นทรัพยากรที่เด็กทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ แต่ในประเทศอย่างเปรู โมร็อกโก อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีเด็กเฉลี่ยไม่ถึง 60% เท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้
นอกเหนือจากเรื่องอุปกรณ์สำหรับเรียนออนไลน์ ซึ่งมีงานสำรวจหลายชิ้นชี้ว่า ไม่ใช่เด็กทุกคนในทุกพื้นที่ทั่วโลกจะสามารถเข้าถึงได้ ระยะหลังเริ่มมีการพูดคุยถึงอีกปัญหาสำคัญที่เป็นผลกระทบจากการเรียนทางไกลเช่นกัน นั่นก็คือสภาวะจิตใจของผู้ปกครอง
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด หรือ CDC ของสหรัฐฯ กล่าวว่าการเรียนทางไกลอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงมากกว่าการไปเรียนที่โรงเรียน หากพูดถึงในแง่ปัญหาสุขภาพจิตของผู้ปกครอง โดยจากการสำรวจพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 1,290 คน ที่ดูแลเด็กนักเรียนอายุไม่เกิน 12 ปี ช่วงตุลาคม – พฤศจิกายน 2020 ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่ต้องดูแลเด็กเต็มเวลาซึ่งเรียนออนไลน์จากที่บ้าน 45.7% ดูแลนักเรียนที่ไปเรียนรูปแบบปกติ 30.9% และอีก 23.4% ดูแลเด็กที่มีรูปแบบการเรียนผสมผสาน
ผลการสำรวจเผยว่าในกลุ่มผู้ปกครองที่ต้องดูแลลูกเต็มเวลา เกินกว่าครึ่ง 54% มีแนวโน้มจะประสบกับภาวะเครียดสูงขึ้น รวมไปถึงปัญหาเรื่องการพักผ่อน ซึ่ง 21.6% ของผู้ปกครองในกลุ่มนี้ประสบกับปัญหานอนไม่หลับ เมื่อเทียบกันแล้วในกลุ่มผู้ปกครองที่ดูแลลูกซึ่งไปเรียนที่โรงเรียนตามปกติ 38.4% บอกว่าพวกเขามีภาวะเครียดสูงขึ้น ขณะที่ปัญหานอนไม่หลับ พบเพียง 12.9% เท่านั้นในผู้ปกครองกลุ่มนี้
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า การเรียนทางไกลสร้างผลกระทบอย่างกว้างขวาง ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาทั่วโลก ตั้งแต่เรื่องการขาดแคลนอุปกรณ์ของเด็ก ไปจนถึงภาวะเครียดในผู้ปกครอง ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงประเด็นสำคัญอื่น ๆ ที่อาจยังไม่ค่อยถูกพูดถึงในวงกว้าง ทั้งภาระของคุณครูที่เพิ่มขึ้น ความมั่นคงทางอาหารของเด็กในพื้นที่ขาดแคลน ไปจนถึงการหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยหากวิกฤตโรคระบาดยังคงดำเนินต่อไป สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงเป็นปัญหาที่วงการการศึกษาต้องเร่งหาวิธีรับมือแก้ไข เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด
อ้างอิง: