บรรยากาศภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2564 เงียบเหงาลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับปีอื่น ๆ สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วทั้งโลก ไม่เพียงแค่ด้านสุขภาวะเท่านั้น แต่รวมถึงแทบทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต
…ระบบการศึกษาก็เช่นกัน….
ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา วิกฤตโควิด-19 ทำให้โรงเรียน/มหาวิทยาลัย หลายแห่งทั่วประเทศต้องประกาศปิดทำการ ผลักให้เด็กไทยหลายล้านชีวิต ต้องก้าวสู่การเรียนทางไกล (Remote Learning) อย่างไม่มีทางเลือก การปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่นี้นำมาซึ่งปัญหาที่กลายเป็นข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ประเด็นความไม่พร้อมเรื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต ฯลฯ ไปจนถึงภาวะการถดถอยทางการเรียนรู้ และปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเรียนทางไกลติดต่อกันเป็นเวลานาน
เพื่อสะท้อนเสียงผู้เรียนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี ของชีวิตไกลห้องเรียน The Visual Thai PBS จึงจัดวงเสวนาชวนพูดคุยในหัวข้อ The Visual Talk : ฟังเสียงนักเรียนยุค #โควิด19 กับชีวิตการศึกษาที่ถูกพรากไป โดยได้เชิญนักเรียน นิสิต นักศึกษา 3 ช่วงชั้น จากสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ประกอบด้วย โย – โยธิน ทองพะวา บัณฑิตจบใหม่จากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา แต้ม – จิณณา ผลดี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ อาร์ท – นภัทร์ เริงนันทกร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสตูลวิทยา
จิณณา ผลดี หรือ แต้ม นักศึกษาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 แบ่งปันในสายตารุ่นพี่ว่า ผลกระทบชัดเจนและน่าเสียดายที่สุดน่าจะตกอยู่กับน้อง ๆ ชั้นปีที่ 1 เนื่องจากไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัย และไม่ได้พบปะกับเพื่อนร่วมรุ่นเลย ซึ่งถือเป็นประสบการณ์สำคัญในรั้วมหาวิทยาลัยที่หายไป ส่วนสถานการณ์ในชั้นเรียนออนไลน์แต้มเล่าว่า การเรียนในหลายวิชาเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากบางวิชาโดยปกตินักศึกษาต้องเรียนรู้จากการลงพื้นที่ พูดคุยกับคนในชุมชน แต่เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้ถูกยกเลิกไป ทำให้ความรู้ที่ได้รับไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ยังไม่รวมถึงการทำงานรูปแบบกลุ่มที่เต็มไปด้วยอุปสรรค เนื่องจากเพื่อนร่วมชั้นหลายคนจำเป็นต้องเดินทางกลับต่างจังหวัดเพื่อลดค่าใช้จ่าย การพูดคุยประสานงานผ่านช่องทางออนไลน์ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด จึงทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานลดน้อยลง
“หลายรายวิชา อาจารย์บอกเลยว่า จากคะแนนหรือผลการสอบบ่งบอกว่าเด็กไม่เข้าใจ … โดยปกติถ้าไม่ใช่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในห้องเรียนจะมีกิจกรรมมากมาย ที่ต้องทำกับเพื่อน นอกเหนือจากได้ความรู้ ได้ถามอาจารย์แบบตัวต่อตัว มันทำให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน เพื่อนสามารถช่วยเราได้ ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา ในคลาสถ้าเราตามไม่ทันก็ถามเพื่อนได้ แต่พอออนไลน์ไม่เห็นหน้า ไม่ได้ยินเสียง มันก็เลยกลายเป็นไม่มีปฏิสัมพันธ์กันเลย เราก็เครียด อาจารย์ก็เครียด” แต้มขยายความ
นภัทร์ เริงนันทกร หรือ อาร์ท นักเรียนชั้นมัธยมปลาย กล่าวว่า สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสตูล เคยทำการสำรวจสภาวะเครียดที่เกิดขึ้นกับเด็กภายในจังหวัด โดยเจาะกลุ่มตัวอย่างไปที่นักเรียนจากโรงเรียนประจำจังหวัด อำเภอ และโรงเรียนขนาดใหญ่ พบว่าเด็กนักเรียนเกินกว่าครึ่งมีภาวะเครียดซึ่งเกิดจากการเรียนออนไลน์ และปัจจัยอื่น ๆ ที่ตามมาพ่วงกัน อาทิ เรื่องสภาพทางการเงินภายในครอบครัว ฯลฯ
“ถ้าให้พูดว่าเครียดไหม ต้องถามก่อนว่าเรามีความสุขหรือเปล่ากับการเรียนออนไลน์เพราะเราต้องพบเจอ ต้องปรับเปลี่ยนอะไรเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการส่งงาน การสอบ เชื่อว่าทุกช่วงชั้นได้รับผลกระทบหมด โดยเฉพาะ ม.ปลาย ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยว … เท่าที่สัมผัสมาเกือบ 1 เทอม คิดว่าการปรับการเรียนการสอนยังไม่สามารถทำได้อย่างทันท่วงทีหรือเหมาะสม เหมือนเรานำหลักสูตรเดิม ๆ ที่เรียนในออฟไลน์ มาเรียนในออนไลน์ และคาดหวังให้เด็กต้องทำอย่างไรก็ได้ ให้งาน ให้สอบ เหมือนกับการเรียนแบบเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก และทำให้เด็กเกิดสภาวะเครียดอย่างหนัก ไม่อยากให้ผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจทางการศึกษามองความเครียดของเยาวชนเป็นเรื่องเล็ก เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนมาก” อาร์ทเสริม
โยธิน ทองพะวา หรือ โย เสนอข้อคิดเห็นจากประสบการณ์ที่เป็นทั้งนักศึกษาและคุณครูฝึกสอนในยุคโควิด-19 ว่า คุณครูควรลดความเคร่งครัดหรือความคาดหวังต่อการวัดผลแบบเดิม และหันมาใส่ใจกับการทำให้นักเรียนมีความสุขแทน เนื่องจากสภาวะวิกฤตส่งผลให้ตัวเด็กต้องแบกรับความเครียดจากหลากหลายด้านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การศึกษาจึงไม่ควรเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เพิ่มความเครียดให้เด็ก การเรียนในหลายรายวิชานอกเหนือจากศาสตร์พื้นฐานอย่างภาษา หรือคณิตศาสตร์ จึงควรมีการทบทวนปรับเปลี่ยนหลักสูตรหรือการวัดผล เพื่อลดความเข้มงวดลง
“ไม่ควรจำกัดว่าต้องทำการประเมินผลแบบเดิม อันนี้คือสิ่งที่ต้องเปลี่ยน รูปแบบวิธีสอนเปลี่ยน วัดผลประเมินผลเปลี่ยน การนับเวลาก็ต้องเปลี่ยน มันต้องเบาลงเนื่องจากนี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ และเด็ก ๆ มีความแตกต่างกัน ก็ควรจะปรับวิธีการวัดผลให้ต่างด้วย เช่น เด็กบางคนไม่สะดวกพิมพ์งาน เราก็อาจให้เขาเขียนและถ่ายรูปส่งมาก็ได้ ทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กเครียดน้อยที่สุด เพราะเรื่องเครียดรอบตัวเขาเยอะแล้ว และพยายามสอบถามความรู้สึกเด็กว่าเขารู้สึกอย่างไร มันอาจถึงเวลาที่เราต้องมาคิดทบทวนว่าอะไรไม่จำเป็นก็ควรตัดออก และไม่ใช่แค่หน้าที่ของคุณครู แต่เป็นหน้าที่ของกระทรวงด้วย บางรายวิชาที่ไม่จำเป็น หรือรายวิชาที่ซ้ำซ้อนก็ควรตัดออก จะช่วยเด็กได้เยอะมาก” โยเสนอ
จากการพูดคุยร่วมชั่วโมงจะเห็นได้ว่า น้อง ๆ ทั้ง 3 คน ต่างเห็นตรงกันถึงปัญหาสำคัญจากการเรียนทางไกลของเด็กไทย นั่นก็คือ “สภาวะเครียด” อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากหลายปัจจัย ตั้งแต่โอกาสการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่ขาดหาย ไปจนถึงความคาดหวังให้ต้องทำผลการเรียนได้ดีเท่าเดิม เหล่านี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ซึ่งไม่ใช่ภาระหน้าที่ของคุณครูเพียงเท่านั้น แต่รวมถึงผู้มีอำนาจทางการศึกษา อันควรต้องเร่งไตร่ตรองแก้ไข ก่อนที่ความสุขในชีวิตการศึกษาของเด็กไทย จะถูกพรากไปทั้งหมด