loader image

“ฉันเกิดมาเป็นเด็กชาย แต่ถูกเลี้ยงดูแบบเด็กหญิง” Karl M. Baer คนแรกที่รับการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ

ท่ามกลางความหลากหลายทางเพศในโลก เราอาจจะรู้จักคำว่า LGBTIQN กันไม่มากก็น้อย แต่ตัว I ในนั้น แทนความหมายถึงอะไร เรามาถึงรู้จักเรื่องราวนี้ ผ่านเรื่องราวของ “เขา” คาร์ล เอ็ม. แบร์ (Karl M. Baer) นักเขียน นักสังคมสงเคราะห์ ผู้รับการผ่าตัดเปลี่ยนเพศคนแรกของโลก

 

 

คาร์ล เอ็ม. แบร์ คนนี้ เกิดในครอบครัวชาวยิวเมื่อปี 1885 ในเมืองหนึ่งของเยอรมนี ตอนเกิดพยาบาลผดุงครรภ์บอกกับพ่อของแบร์ว่าร่างกายเด็กมี “ลักษณะแปลกประหลาด” และไม่อาจระบุเพศได้ ซึ่งในท้ายที่สุด แพทย์ก็ตัดสินใจยืนยันเพศของแบร์ว่าเป็นเด็กหญิง ทำให้แบร์ถูกครอบครัวเลี้ยงดูแบบ ‘เด็กหญิง’ ในนาม มาร์ธา แบร์ (Martha Baer) ก่อนจะกลายเป็นบุคคลแรกที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนเพศในปี 1906

อย่างไรก็ตาม แม้แบร์มักจะถูกเรียกว่าคนข้ามเพศ แต่หากเทียบตามความหมายของเพศสภาพในทุกวันนี้ แบร์น่าจะถูกเรียกว่าเป็นบุคคลสองเพศ (Intersex) เสียมากกว่า (เรียนรู้ความหมายของคำว่า Intersex กับ https://thaip.bs/2qOCF4e)

“ฉันเกิดมาเป็นเด็กชาย แต่ถูกเลี้ยงดูแบบเด็กหญิง”

ในอัตชีวประวัติเมื่อปี 1907 ของแบร์ที่ชื่อว่า “Memoirs of a Man’s Maiden Years” ตีพิมพ์โดยใช้นามแฝงว่า N.O. Body แบร์เขียนเล่าเกี่ยวกับการไม่เป็นที่ยอมรับในโรงเรียนและรู้สึกแย่กับเพศที่ได้ถูกกำหนดให้เป็น โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่น ความแตกต่างระหว่างแบร์กับเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ ในชั้นเรียนเริ่มชัดเจน หนวดเริ่มปรากฏบนใบหน้าของเขา เช่นเดียวกับน้ำเสียงที่ทุ้มต่ำ และตัวแบร์เองยังเริ่มรู้สึกมีแรงดึงดูดทางเพศต่อผู้หญิงอีกด้วย

“คนผู้หนึ่งอาจเลี้ยงเด็กชายที่แข็งแรงคนหนึ่งให้มีกิริยามารยาทแบบผู้หญิง และสิ่งมีชีวิตเพศหญิงในลักษณะผู้ชายได้ตามปรารถนา สิ่งเหล่านี้จะไม่ทำให้ความรู้สึกของพวกเขาเปลี่ยนไปตลอดกาล” แบร์เขียนเล่าในหนังสือของเขา

ปี 1904 แบร์ย้ายไปฮัมบูร์ก เยอรมนีเพื่อทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์กับองค์กรชาวยิว B’nai Brith และเริ่มใช้ชีวิตเป็นผู้ชายที่นั่น รวมถึงการแนะนำตัวเองในฐานะผู้ชาย

“ฉันแนะนำตัวเองในฐานะผู้ชาย ไม่เคยในฐานะผู้หญิงเลย” แบร์เขียนเล่า “แต่จริง ๆ แล้วฉันเป็นอะไรล่ะ ? ฉันเป็นผู้ชายเหรอ ? พระเจ้า ไม่ มันจะเป็นความสุขเกินพรรณนาถ้าฉันเป็นชาย แต่ปาฏิหาริย์ไม่ได้เกิดขึ้นอีกแล้วสมัยนี้”

2 ปีต่อมา แบร์ประสบอุบัติเหตุจากรถรางในกรุงเบอร์ลิน เขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน แพทย์พบว่าบัตรประจำตัวของแบร์ ระบุว่าเขาเป็นผู้หญิง ทั้ง ๆ ที่แสดงตัวเป็นผู้ชาย ระหว่างการพักฟื้น พวกแพทย์ตัดสินใจขอคำปรึกษาแมกนัส เฮิร์ชเฟลด์ หมอผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพศ ซึ่งวินิจฉัยว่าแบร์เป็น “ผู้ชายที่ถูกระบุผิดพลาดว่าเป็นผู้หญิง”

ดร.แมกนัส เฮิร์ชเฟลด์ เป็นหนึ่งในนักวิจัยที่โดดเด่นที่สุดในยุคนั้นที่ศึกษาเรื่องเพศ และเพศสภาพ หนึ่งในคนแรก ๆ ที่เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายห้ามมีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ทั้งยังเป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรก ๆ ที่ทำงานศึกษาประเด็นที่เขาเรียกว่า “เพศที่สาม” เช่นประเด็น Intersex และ Transgender

กรณีของแบร์ ดร.แมกนัส เฮิร์ชเฟลด์ แนะนำให้เขาเข้ารับ “การผ่าตัด” เพื่อแก้ไขเพศ ยุคนั้นแม้ไม่มีข้อบังคับที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดเพศใหม่ แต่แบร์ก็ยังต้องผ่านขั้นตอนการยืนยันเพศหลายขั้นตอน ต้องขอแบบฟอร์มจากหน่วยงานต่าง ๆ ก่อนทำการผ่าตัด รวมถึงใบอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยของรัสเซียด้วย และในที่สุด พ.ศ. 1906 แบร์ก็ออกโรงพยาบาลในเดือนธันวาคม โดยมีใบรับรองแพทย์ระบุว่าเขาเป็นชาย และในปีต่อมาเสมียนศาลในเมือง Arolsen ก็ออกสูติบัตรใหม่ให้แบร์ โดยระบุว่าเป็นเพศชาย ทำให้เขาสามารถแต่งงานกับผู้หญิงชื่อ Beile Halpern ได้ น่าเศร้าที่เธอจากไปหลังแต่งงานกันไม่นานจากโรคปอดบวม และแบร์แต่งงานใหม่อีกครั้งกับ Elza Max ในปี 1887–1947

น่าเสียดายที่เราอาจไม่ทราบได้ว่าแบร์ได้รับการผ่าตัดแบบใด เนื่องจากช่วงการเผาหนังสือของนาซีในปี 1930 ทำให้บันทึกของ ดร.แมกนัส เฮิร์ชเฟลด์ รวมถึงบันทึกทางการแพทย์ของแบร์ถูกเผาทำลาย

Iris Rachamimov นักประวัติศาสตร์ข้ามเพศกล่าวกับ Haaretz ว่า อาจเคยมีคนอื่นที่เปลี่ยนผ่านทางสังคม อย่างการเปลี่ยนรูปลักษณ์และสถานะทางสังคมเพื่อสะท้อนถึงเพศของตนมาก่อน แต่แบร์ต่างไปจากคนอื่น เพราะ “เขาใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์และการผ่าตัด เพื่อเปลี่ยนแปลงเพศของเขา”


#ThaiPBS ชวนสำรวจความหลากหลายทางเพศ ผ่านโลกภาพยนตร์และซีรีส์ ด้วยตัวของคุณเองพร้อมกันได้ที่ https://thaip.bs/GenderOnScreen
#TheVisualThaiPBS #GenderOnScreen #Pride #PrideMonth2021

Sources : https://thaip.bs/SQnumS8https://thaip.bs/iZyZlDc

Like This? Share It!