loader image

The Visual by Thai PBS ชวนพูดคุย LGBTIQN บนจอเงินและจอแก้ว แท้จริงแล้ว “หลากหลาย” แค่ไหน?

ปัจจุบันนี้ ในยุคสมัยที่ภาพของอัตลักษณ์ชายรักชายถูกนำเสนออย่างเกลื่อนตลาด ทั้งในจอภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ ที่มีมาให้เลือกชมได้ไม่ขาดสาย การตั้งข้อสังเกตว่าสื่อบันเทิงทั้งหลาย ยังคงไม่เปิดกว้างให้ความหลากหลายทางเพศนั้น อาจกลายเป็นประเด็นน่ารำคาญใจและสร้างวลีคุ้นหูอย่าง “ซีรีส์ Y มากมายขนาดนี้ ประเทศไทยเปิดกว้างขนาดนี้ LGBTIQN ยังต้องการอะไรอีก?” แต่หากเรามองลึกลงไปในความหลากหลาย มองไปให้ถึงเบื้องหลัง และวาระซ่อนเร้นอื่น ๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้การนำเสนอภาพตัวละคร LGBTIQN นั้น เราอาจพบว่าจริง ๆ แล้ว อุตสาหกรรมบันเทิงก็ยังไม่สามารถผลิตผลงานที่สะท้อน “ความหลากหลาย” ได้อย่างแท้จริง

เพื่อเฟ้นหาคำตอบ The Visual Thai PBS จึงจัดวงเสวนาพูดคุยในหัวข้อ The Visual Talk : มองเพศผ่านภาพยนตร์ ซีรีส์ เมื่อพื้นที่ของเรา…ไม่เท่ากัน? โดยเชิญแขกรับเชิญผู้คร่ำหวอดอยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง อย่าง นุชชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับภาพยนตร์ ดีเจอ๋อง เขมรัชต์ สุนทรนนท์ ดีเจ พิธีกร และนักแสดง รวมถึงนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้าน Gender Study อย่าง ดร. ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมเสวนาถกเถียง เพื่อหาข้อสรุปว่า จริง ๆ แล้ว สื่อบันเทิงไทยสามารถนำเสนอภาพ “ความหลากหลาย” ได้อย่างแท้จริงหรือไม่?

อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่ฝากผลงานขึ้นชื่ออย่าง อนธกาล และมะลิลา ที่โด่งดังไปไกลทั่วโลก มองว่า อุตสาหกรรมบันเทิงทั้งภาพยนตร์และซีรีส์ไทย ยังคงไม่สามารถนำเสนอภาพความหลากหลายที่ครอบคลุมได้อย่างแท้จริง อย่างที่เราอาจจะคุ้นชินกับซีรีส์ที่นำเสนอเรื่องราวของ G หรืออัตลักษณ์ชายรักชาย แต่อัตลักษณ์อื่น ๆ อย่าง L หรือ หญิงรักหญิงกลับมีน้อยมาก ขณะที่บางอัตลักษณ์เช่น I หรือ Intersex แทบไม่เคยถูกพูดถึงเลย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้จัด ยังไม่สามารถก้าวทันสภาพความเป็นจริงของสังคม ซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศใหม่ ๆ ปรากฏขึ้นอยู่ตลอดเวลาได้ แต่ถึงกระนั้นการนำเสนอภาพ LGBTIQN บนสื่อบันเทิงทั้งหลายก็มีพัฒนาการที่น่าสนใจ ผู้กำกับวัย 40 ปี มองว่า ประเทศไทยยังเป็นสังคมที่เปิดกว้างพอสมควร ให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ถูกทำให้มองเห็น (Visibility) บนพื้นที่สื่อ ดังนั้น แม้ขณะนี้ความหลากหลายทางเพศอาจยังไม่ถูกนำเสนอในทุกมิติอย่างแท้จริง แต่การถูกมองเห็นจะช่วยดึงดูดผู้ชมให้เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ และเรียกร้องให้ผู้สร้าง ค้นหาแง่มุมใหม่ ๆ ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมานำเสนอมากยิ่งขึ้น

“แนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ ไม่ว่าจะในแง่ของตัวละครหรือบทบาทที่ได้รับ อย่างเช่นในช่วงแรกเราอาจจะเห็นแค่กะเทยและก็มีแค่บทตลก หรืออาจจะเป็นบทที่ไม่สมหวังในความรัก และสังคมก็จะเรียกร้องต่อว่า มันไม่ได้มีแค่กะเทยนะ แต่ยังมีชายรักชาย หญิงรักหญิง หรือชาวชุมชน LGBTIQN เอง ก็อาจจะออกมาแสดงความเห็นว่าบทบาทที่นำเสนอนั้น ไม่ตรงความเป็นจริงของพวกเราเท่าไหร่ อยากได้บทที่หลากหลายมากขึ้น ไม่อยากผิดหวังในความรักอย่างเดียว ขอมีความสุขบ้างได้ไหม หรือไม่ได้เล่าเรื่องความรักอย่างเดียว แต่พูดเรื่องสิทธิบ้างได้ไหม … โดยส่วนตัวเรามองว่า Visibility สำคัญ ต่อให้ช่วงแรกภาพ LGBTIQN เป็นตลก มันก็โอเค เพราะคนดูยังสามารถแสดงความเห็น ยังตั้งคำถามกับมันได้ เราไม่ได้บอกว่า Stereotype (ภาพเหมารวม) ถูกต้อง แต่มันก็เป็นกลไกที่กระตุ้นให้คนดูเข้ามาวิพากษ์ ว่าภาพ LGBTIQN ที่เป็นการ Stereotype  นั้นไม่เป็นที่ต้องการ และสื่อบันเทิงก็จะพัฒนาต่อไป” อนุชาเสริม

ด้าน เขมรัชต์ สุนทรนนท์ พิธีกร นักแสดง และ Influencer ผู้ออกมาเป็นกระบอกเสียงขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายทางเพศอยู่บ่อยครั้ง ก็ได้แสดงความเห็นจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า การนำเสนอภาพ LGBTIQN บนสื่อบันเทิงไทยโดยเฉพาะละครนั้น มีความต่างออกไปมากเมื่อเทียบย้อนกลับไปหลาย 10 ปีก่อน อย่างเช่นในอัตลักษณ์ G หรือ กลุ่มเกย์ เมื่อครั้งอดีตก็มักถูกนำเสนอในภาพลักษณ์ที่หนีไม่พ้นตัวละครชายที่มีลักษณะคล้ายผู้หญิง ผมสั้น แต่งหน้าทาปาก และที่สำคัญคือมีหน้าที่ในการสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชม อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา เขมรัชต์เล่าว่า ช่วงหนึ่งก็ได้เกิดละครที่นำเสนอภาพอัตลักษณ์เกย์ที่ต่างไปจากเดิม โดยมีการตัดทอนความตลกโปกฮา จริตคล้ายผู้หญิง และการแต่งหน้าทาปากออกไป จนกลายเป็นตัวละครผู้ชายทั่ว ๆ ไปที่มีรสนิยมชื่นชอบเพศเดียวกัน ซึ่ง ณ เวลานี้ นับเป็นเรื่องฮือฮามากในกลุ่มผู้ชม และก็ได้พัฒนากลายมาเป็นคาแรกเตอร์ในกลุ่มตระกูลซีรีส์ Y ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ดีเจชื่อดังยังกล่าวต่อว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงมหาศาล แต่ภาพความหลากหลายทางเพศบนสื่อบันเทิงไทย เมื่อเทียบกับสภาพสังคมในโลกความเป็นจริงก็ยังถือว่าไม่เพียงพอ “จากตอนนั้นมาถึงตอนนี้ 10 ปี เราเห็นความเปลี่ยนแปลงเยอะมาก และเราดีใจมากที่ละครไทยก้าวมาถึงตรงนี้ได้ แต่ถ้าถามว่ามันพอไหม จริง ๆ มันก็ยังไม่เพียงพอหรอก มันยังมีอัตลักษณ์อีกเยอะมากนอกเหนือจาก G และยิ่งในโลกปัจจุบันที่สังคมเริ่มไม่กำหนดแล้วว่า เพศของแต่ละคนจะเป็นอะไร รสนิยมทางเพศก็เป็นความชอบส่วนตัว โลกนี้มันมาไกลมากแล้ว มันหมดยุคที่เราจะต้องมานั่ง Label (แปะป้าย) กันแล้วว่าใครจะเป็นเพศอะไร เพราะสุดท้ายความรักก็คือความรัก”

ในส่วน ดร. ชเนตตี ทินนาม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเพศสภาพและเพศวิถี  ได้เสนออีกมุมมองที่น่าสนใจนอกเหนือจากความหลากหลาย นั่นคือการทำให้เรื่องเพศเป็นสิ่งที่ลื่นไหล (Fluid) อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ แสดงความกังวลเกี่ยวกับการนำเสนอภาพ LGBTIQN ในสื่อยุคปัจจุบันว่า ส่วนใหญ่เป็นการจับตัวละครกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าไปอยู่ในกล่องที่ตายตัว และพยายามกำหนดบทบาทว่าแต่ละอัตลักษณ์ทางเพศนั้น จะมีลักษณะจำเพาะซึ่งตัวละครจะต้องยึดจับคุณลักษณะนั้นไปโดยตลอด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สถานะของอัตลักษณ์ทางเพศล้วนมีความลื่นไหล และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การนำเสนอภาพว่าเพศเป็นสิ่งที่ตายตัวนั้น จึงอาจนำมาความสู่ความเข้าใจผิดและสร้างทัศนคติเชิงลบต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้

“สื่อต้องระวังที่จะไม่จับ LGBTIQN ลงกล่อง เหมือนที่ครั้งหนึ่งเคยจับผู้หญิงใส่กล่อง สื่อทุกวันนี้พยายามจะนำเสนอในลักษณะที่ว่า ถ้าเป็นเกย์ก็เป็นเกย์ไปตลอด ถ้าเป็น Trans ก็จะเป็น Trans ไปตลอดชีวิต ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ความหลากหลายทางเพศไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งหรือตายตัว การที่ภาพยนตร์หรือซีรีส์บางครั้งทำให้ความเป็นเกย์กลายเป็นสิ่งสุดท้าย เป็นสิ่งที่ชั่วนิจนิรันดร มันเป็นการสร้างกล่องและจับตัวละคร LGBTIQN ลงไป ทั้งที่ความหลากหลายทางเพศเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตามความรู้สึก ตามจิตใจ เราจะเห็นหลายคนที่เป็น Transwomen และวันหนึ่งเขาก็อยากลุกมาแต่งตัวเป็นผู้ชาย นั่นไม่ใช่ความวิปริต หรือความผิดปกติ หรือเพราะว่าะเขายังหาตัวเองไม่เจอ แต่มันเป็นความลื่นไหล เพราะฉะนั้นสื่อจะต้องช่วยกันสื่อสารให้สังคมรู้ว่าเรื่องเพศไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว ไม่ควรมีกล่องที่จะมาคุมขังเสรีภาพของอัตลักษณ์ใด ๆ เพราะคนคนหนึ่ง อาจจะตกหลุมรักได้หลายครั้ง คนคนหนึ่งอาจจะรู้สึกพึงพอใจร่างกายตัวเองในหลากหลายรูปแบบ” ดร. ชเนตตี ทิ้งท้าย

ตลอดการพูดคุยร่วม 90 นาที จะเห็นว่า แขกรับเชิญทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังอุตสาหกรรมบันเทิง รวมถึงนักวิชาการด้านเพศสภาพ ต่างเห็นตรงกันว่า แม้จะมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ แต่สื่อทั้งภาพยนตร์และซีรีส์ก็ยังคงไม่สามารถนำเสนอความหลากหลายทางเพศ ได้ครบถ้วนทุกมิติและสะท้อนสังคมอย่างแท้จริง ดังนั้น ความหลากหลายทางเพศ จึงยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างสื่อบันเทิงทั้งหลาย ต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนต่อไปหากอยากเห็นภาพยนตร์และซีรีส์ ที่เล่าเรื่องราวความหลากหลายทางเพศได้ลึกซึ้งอย่างแท้จริง

Like This? Share It!