ในเดือนมิถุนายนของทุก ๆ ปี ณ หลายเมืองใหญ่ทั่วทุกมุมโลก คงไม่ใช่ภาพน่าประหลาดใจอะไร หากคุณจะได้พบเห็นกลุ่มคนจำนวนมาก ใส่เสื้อสีสันฉูดฉาด รวมตัวกันเดินพาเหรดพร้อมสะบัดธงสีรุ้งไปมา เหตุเพราะช่วงเวลานี้ของทุก ๆ ปี มักเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในฐานะเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ หรือที่เรียกกันติดปากว่า Pride Month นับเป็นอีกเดือนสำคัญที่ผู้คนจากชุมชน LGBTIQN รวมถึงผู้ที่สนับสนุนหลักคิดของความเท่าเทียมทางเพศ จะออกมาเดินขบวน แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ จัดกิจกรรมพิเศษ หรือเปิดวงสนทนาถกเถียงและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงหากเรามองย้อนกลับไปในอดีตหลายทศวรรษ
ณ ปัจจุบัน ประเด็นเรื่องเพศที่เรารับรู้นั้น ช่างแตกต่างออกไปมากเมื่อเทียบกับอดีต ไม่ใช่เพียงแค่ในวงสนทนาของนักวิชาการเท่านั้น แต่ในการรับรู้ของคนส่วนใหญ่ ความเข้าใจ มุมมอง และทัศนคติต่อเพศ นั้นกลายเป็นพลวัตซึ่งขับเคลื่อนผันเปลี่ยนตลอดเวลา ตามองค์ความรู้ที่ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ความหมายของคำว่า “เพศ” ในยุคสมัยใหม่ จึงซับซ้อนและไปไกลกว่านิยามบนหน้าหนังสือเรียนสุขศึกษาในอดีต และที่สำคัญไม่ได้แบ่งมนุษย์เป็นแค่ ชาย กับ หญิง
Sex/Gender/Sexuality : เมื่อ “เพศ” ไม่ได้มีเพียงหนึ่งความหมาย
ในปัจจุบัน คำที่เกี่ยวข้องกับเพศนั้นถูกให้นิยามแตกแขนงยิบย่อยออกไปมากมาย โดยไม่ได้หมายถึงแค่ “เพศ” ที่เป็นไม้บรรทัดจัดจำแนกมนุษย์ตามอวัยวะเพศอีกต่อไป แต่เราจะได้ยินคำว่า เพศสรีระ เพศสภาพ หรือ เพศวิถี ผ่านหูผ่านตากันมากขึ้น โดยแต่ละคำล้วนมีนิยามความหมายเฉพาะเจาะจง ซึ่งหลายคนอาจยังไม่รู้ว่าแตกต่างกันอย่างไร
- เพศสรีระ หรือ Sex หมายถึงลักษณะทางเพศที่ถูกกำหนดโดยปัจจัยทางกายภาพ หรือ ชีววิทยา เช่น อวัยวะเพศ โครโมโซม ฮอร์โมน ลักษณะกายวิภาค ฯลฯ
- เพศสภาพ หรือ Gender หมายถึง บทบาท พฤติกรรม และคุณลักษณะทางเพศ ที่สังคมกำหนดให้ผู้คน
- เพศวิถี หรือ Sexuality หมายถึง ลักษณะทางเพศที่เกี่ยวข้องกับกามารมณ์ ความรู้สึกดึงดูด อารมณ์ปรารถนาทางเพศ หรือ ความรักใคร่ชอบพอ
LGBTIQN กับตัวอักษรใหม่ ๆ ….ที่เพิ่มเข้าไปไม่สิ้นสุด
อีกหนึ่งคำศัพท์ยอดนิยมที่ถูกเอ่ยถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงหลายปีผ่านมา นั่นก็คือศัพท์ที่ใช้เรียกแทนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTIQN แม้ตัวอักษรทั้ง 6 นี้จะไปปรากฏตัวอยู่แทบทุกหนแห่ง ตามป้ายโฆษณา หนัง/ละคร หรือช่องทางสื่อสารมากมาย แต่หลายคนก็อาจยังไม่ทราบว่าแต่ละตัวอักษร สื่อถึงบุคคลผู้นิยามตนเองตามกลุ่มอัตลักษณ์ทางเพศต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
L (Lesbian)
G (Gay)
B (Bisexual)
T (Transgender)
I (Intersex)
Q (Queer)
Non - Binary
ทั้งนี้ในแวดวงบทสนทนาหรือการถกเถียงเรื่องเพศ นอกจาก LGBTIQN แล้ว ยังมีเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศอีกมากมายที่ถูกพูดถึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็น Asexual ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ปราศจากแรงดึงดูด หรือ แรงปรารถนาทางเพศ หรือ Pansexual อันหมายถึง ผู้ที่มีแรงดึงดูดกับบุคคลทุกรูปแบบโดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพ
โดยในแวดวงวิชาการที่ศึกษา Gender Study มองว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับนิยามคำศัพท์ เรื่องความหลากหลายทางเพศ ควรทำให้ลื่นไหล ไม่ยึดติดกับกรอบใดกรอบหนึ่ง เพราะในอนาคตเมื่อองค์ความรู้เรื่องเพศของมนุษย์ก้าวล้ำไปเรื่อย ๆ อาจปรากฏตัวอักษรซึ่งแสดงอัตลักษณ์ทางเพศกลุ่มใหม่ ๆ เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไป ไม่รู้จบ…
📌 ปัจจุบันประเด็นเรื่องเพศกระจัดกระจายอยู่ในหลากหลายมิติของชีวิต รวมถึงสื่อบันเทิงอย่าง ภาพยนตร์และซีรีส์ที่เราเสพอยู่ทุกวัน….เนื่องในเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ หรือ Pride Month #ThaiPBS ขอเชิญร่วมสำรวจเรื่องราวความหลากหลายทางเพศ ซึ่งสะท้อนผ่านโลกซีรีส์และภาพยนตร์ ด้วยตัวของคุณเอง 👉🏻 พร้อมกันได้ที่ thevisual.thaipbs.or.th #TheVisualThaiPBS #GenderOnScreen