loader image

Pride Month : เดือนแห่งความหลากหลาย สายรุ้งและความรุ่งเรือง LGBTIQN

Cover

เสื้อผ้าหน้าผมสีสันฉูดฉาด..
ธงสีรุ้งปลิวไสว…
ฝูงชนตามเมืองใหญ่ รวมตัวเดินขบวนไปตามท้องถนน....

คงเป็นภาพที่เห็นกันชินตาตามหน้าเพจข่าวสารจากทั่วทุกมุมโลก ในช่วงเดือนมิถุนายนของทุก ๆ ปี ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญที่ชุมชนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTIQN จะออกมาผนึกกำลังจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองหลากรูปแบบ ทั้งเดินขบวนพาเหรด ปาร์ตี้สังสรรค์ จัดการแสดง หรือ เปิดเวทีสนทนาให้ความรู้เรื่องสิทธิ และ Call Out เรื่องความไม่เท่าเทียมต่าง ๆ โดยเดือนนี้มักเป็นที่รู้จักและผ่านหูใครหลายคนในอีกชื่อหนึ่งว่า “Pride Month”

Pride Month คืออะไร?

หากมองอย่างผิวเผิน Pride Month อาจดูไม่ต่างอะไรจากอีเวนต์แฟนตาซี สีสันจัดจ้าน ที่เต็มไปด้วย เพลง ดนตรี และกิจกรรมรื่นเริงสังสรรค์ แต่ภายใต้ภาพความสนุกสนาน ยังมีเรื่องราวและนัยยะสำคัญมากมายซ่อนอยู่
Pride Month ถูกกำหนดขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่การเฉลิมฉลองความเฟื่องฟูทางด้านสิทธิและวัฒนธรรมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยมุ่งไปที่การเอ่ยถึงความก้าวหน้าและความสำเร็จของการขับเคลื่อนเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นตลอดทั้งปี ในขณะเดียวกัน Pride Month ก็ทำหน้าที่เสมือนการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อเน้นย้ำให้สังคมเห็นว่า ประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำและการไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศนั้น ยังคงมีอยู่ทั่วทุกแห่งหนและแทบทุกมิติของสังคม อันเป็นภาระผูกพันที่ทุกคนจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้ประเด็นนี้เดินไปข้างหน้าต่อไป

นอกจากนี้ Pride Month ยังสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์อันยาวนาน ของขบวนการขับเคลื่อนเพื่อความเท่าเทียม รวมไปถึงเป็นเวทีสำหรับกลุ่มคนชายขอบต่าง ๆ ทั้งชาวชนบทและคนผิวสี ฯลฯ ผู้ถูกเลือกปฏิบัติในสังคม ให้ได้มีพื้นที่แสดงออก ส่งเสียงและเรียกร้องความเท่าเทียม โดยไม่ได้เป็นกิจกรรมที่เข้าร่วมได้เฉพาะกลุ่ม LGBTIQN เท่านั้น แต่สำหรับใครก็ตามที่ตระหนักและต้องการส่งเสริมสังคมที่เท่าเทียม ล้วนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองครั้งนี้ได้ทั้งสิ้น

ทำไมต้องเป็นเดือนมิถุนายน?

ย้อนกลับไปในสหรัฐอเมริกาช่วงเดือนมิถุนายน ปี 1969 ณ เวลารุ่งสางของเช้าวันที่ 28 ตำรวจนครนิวยอร์กได้บุกเข้าไปยัง Stonewall Inn บาร์เกย์ชื่อดังในย่าน West Village ก่อนจะใช้กำลังเข้าฉุดลากลูกค้าภายในร้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม LGBTIQN แม้การใช้กำลังคุกคามชาวเกย์ครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรก สำหรับบริบทสังคมในยุคนั้นที่การชื่นชอบเพศเดียวกันยังคงถูกตีตราว่าผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่ต่างออกไปในสถานการณ์ครั้งนี้ คือชาวเกย์ภายในบาร์ Stonewall Inn เริ่มตอบโต้และสู้กลับ ก่อนเหตุการณ์จะบานปลายและกลายเป็นการปะทะใหญ่ระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งกินระยะเวลานานหลายวัน จนถูกขนานนามในภายหลังว่า Stonewall Uprising (การลุกฮือที่สโตนวอลล์)

เหตุการณ์ที่ Stonewall Inn กลายเป็นส่วนสำคัญซึ่งจุดประกายให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วทั้งโลกออกมาแสดงจุดยืน ต่อต้านความอยุติธรรม โดยขบวนการขับเคลื่อนเพื่อความเท่าเทียมทางเพศที่สำคัญอย่าง Gay Liberation Movement ซึ่งทรงอิทธิพลอย่างมากในช่วงปลายยุค 60s จนถึงกลางยุค 80s ก็นับเป็นอีกผลิตผลสำคัญที่ได้รับอิทธิพลมาจากเหตุการณ์นี้ โดยอาจกล่าวว่า Stonewall Uprising นับเป็นอีกตัวเร่งสำคัญที่เปลี่ยนโฉมหน้าการต่อสู้เพื่อสิทธิชาว LGBTIQN ในโลกสมัยใหม่ไปตลอดกาล

หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย ชาวนิวยอร์กได้จัดกิจกรรมรำลึกถึงวันครบรอบในปี 1970 โดยตั้งขบวนเดินจาก Stonewall Inn ไปจนถึง Central Park นับเป็นจุดริเริ่มของการเดินพาเหรดเพื่อแสดงออกถึงความหลากหลายทางเพศในเมืองอื่น ๆ ของสหรัฐฯ และกระจายไปทั่วทั้งโลกในเวลาต่อมา โดย Brenda Howard นักเคลื่อนไหวผู้เป็นแกนหลักในการจัดงานรำลึกครั้งแรก ได้ให้นิยามกิจกรรมครั้งนั้นว่าเป็นการเดินขบวน “Pride” ก่อนที่คำคำนี้ จะถูกใช้เรียกชื่อกิจกรรมเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ และแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่บาร์ Stonewall Inn เอง ก็ได้ถูกตั้งให้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เมื่อปี 2016 ในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า

ธงสีรุ้งคืออะไร?

หากติดตามขบวนพาเหรดในช่วง Pride Month คงจะคุ้นหน้าคุ้นตากันดีสำหรับธงสีรุ้ง 6 สี ที่ถูกโบกสะบัดอยู่ทั่วทุกทิศที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับ LGBTIQN จนเปรียบเสมือนอีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญของการขับเคลื่อนเพื่อความหลากหลายทางเพศ โดยธงสายรุ้งนี้เป็นผลงานการออกแบบของ Gilbert Baker ศิลปินชาวสหรัฐฯ ผู้ถูกเทียบเคียงโดย Harvey Milk สมาชิกสภาที่ปรึกษาเมืองซานฟรานซิสโกคนแรก ๆ ที่เปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์ ให้มาออกแบบธงเพื่อใช้สำหรับเฉลิมฉลอง Pride Month ในปี 1978

โดย Gilbert ได้แรงบันดาลใจในการสรรสร้างธงมาจากสีของสายรุ้ง โดยต้นแบบดั้งเดิมมีทั้งหมด 8 สี ที่สื่อความหมายแตกต่างกันออกไป สีแดง หมายถึง ชีวิต, สีส้ม หมายถึง การเยียวยา, สีเหลือง หมายถึง แสงอาทิตย์, สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ, สีน้ำเงิน หมายถึง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน, สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณ และอีก 2 สี ที่ถูกลดออกไปในภายหลังได้แก่ สีชมพู ซึ่งหมายถึง เพศ และสีเทอร์คอยส์ ที่หมายถึง เวทมนต์และศิลปะ

อย่างไรก็ตาม Pride Month ไม่ใช่ช่วงเวลาเดียวสำหรับการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ แต่ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย ที่กลุ่ม LGBTIQN ทั่วโลกจัดขึ้น เพื่อขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมตลอดทั้งปี โดยเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ทำให้แทบทุกกิจกรรมของ Pride Month จำเป็นต้องยกเลิก จนในปีนี้แม้สถานการณ์ทั่วโลกยังไม่กลับสู่สภาวะปกติโดยสมบูรณ์ แต่หลายเมืองใหญ่ซึ่งเป็นไฮไลต์สำคัญของเดือน Pride Month ก็เตรียมพร้อมสำหรับการจัดกิจกรรมในรูปออนไลน์ทั้ง นิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส ขณะที่อีกหลายเมืองอย่างไมอามี่และลอนดอน ก็เลือกจะเลื่อนไปจัดงานเฉลิมฉลองแบบเต็มรูปแบบในช่วงเดือนกันยายน

Like This? Share It!