ทำไม… Happy Ending ของเจ้าหญิงดิสนีย์ คือ การลงเอยกับเจ้าชายรูปงาม ?
ทำไม… นางเอกละครไทยหลายครั้ง ต้องรอคอยแต่ความช่วยเหลือจาก “อัศวินขี่ม้าขาว” ?
ทำไม… ภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่หญิงเดี่ยวถึงมีน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับผู้ชาย ?
หลากหลายคำถามที่เราอาจไม่ทันตั้งข้อสงสัยระหว่างซึมซาบความบันเทิงที่ได้จากการชมภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือ ละคร
หลายครั้งที่ผู้สร้างกำหนดเป้าหมายสูงสุดให้ตัวละครเจ้าหญิงเหล่านี้ ไม่มีอะไรเกินกว่าการไขว่คว้าหรือเฝ้ารอความรักจากเจ้าชายรูปหล่อ ทั้งที่ในชีวิตจริงแล้ว รักแท้ ไม่ใช่คุณสมบัติเพียงหนึ่งเดียวที่กำหนดหรือบ่งชี้คุณค่าของผู้หญิง
แล้วเหตุใด ผู้หญิง ถึงถูกจัดวางภายใต้กรอบและพื้นที่แสนจำกัดจำเขี่ยขนาดนี้ในสื่อบันเทิง ? … เพื่อหาคำตอบ … เราอาจต้องย้อนกลับมาดู ต้นตอของงานสร้างในแวดวงบันเทิงต่าง ๆ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร โดยกลุ่มคนผู้มีอิทธิพลต่อเรื่องเล่าบนหน้าจอซีรีส์และภาพยนตร์ทั่วโลก ก็คงหนีไม่พ้นเบื้องหลังหลัก ๆ อย่าง โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ และนักเขียนบท
The Visual ได้ทำการเก็บข้อมูลบุคลากรเบื้องหลังทั้ง 3 ตำแหน่งนี้ จากภาพยนตร์ ซีรีส์ ละคร ทั้งไทยและต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2000 – 2019 กว่า 1,000 เรื่อง ก่อนจะพบข้อสรุปที่ว่า หนึ่งในสาเหตุที่ผู้หญิงถูกนำเสนออย่างจำกัดในสื่อบันเทิง อาจเป็นเพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ยังคงอบอวลไปด้วย “เสียงของผู้ชาย” โดยในบรรดา โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ และนักเขียนบท กว่า 5,200 คน ที่ทำการสำรวจ The Visual พบว่าบุคลากรในจำนวนนี้เป็นผู้ชายมากถึง 81.09% ขณะที่มีผู้หญิงเพียง 18.91%
ผลสำรวจภาพยนตร์กระแสหลัก (Mainstream) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากฝั่งฮอลลีวูด พบว่าภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จด้านรายได้บน Box Office มีเบื้องหลังมาจากทีมสร้างผู้ชายแทบจะทั้งหมด โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้กำกับ ซึ่งมีสัดส่วนเป็นผู้หญิงอยู่แค่ 3.97% โดยจากภาพยนตร์ทั้ง 400 เรื่อง ที่สำรวจ มีเพียง 10 เรื่องเท่านั้น ที่กำกับโดยผู้กำกับหญิงเดี่ยว ได้แก่ What Women Want (2000), Bridget Jones’s Diary (2001), Something’s Gotta Give (2003), Bridget Jones: The Edge of Reason (2004), The Holiday (2006), Twilight (2008), Mamma Mia! (2008), Alvin and the Chipmunks: The Squeakquel (2009), Kung Fu Panda 2 (2011) และ Wonder Woman (2017)
นอกจากภาพยนตร์กระแสหลักแล้ว ภาพยนตร์สายกวาดรางวัลก็มีสัดส่วน ชาย-หญิง ของคนเบื้องหลังที่ต่างกันลิบลับไม่แพ้กัน โดยในภาพรวมจากการสำรวจภาพยนตร์ที่เคยได้รับรางวัลจากเวที Oscar, Cannes Film Festival และ Busan International Film Festival จำนวน 36 เรื่อง มีปริมาณบุคลากรผู้หญิงเพียง 14.43% เท่านั้น อย่างในบรรดาภาพยนตร์ที่เคยได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ณ ปัจจุบันนี้ มีเพียง 2 เรื่องเท่านั้น ที่กำกับโดยผู้กำกับผู้หญิง ได้แก่ The Hurt Locker (2008) ของ Kathryn Bigelow และ Nomadland (2020) ของ Chloé Zhao
มาถึงภาพยนตร์ขวัญใจน้อง ๆ หนู ๆ อย่างแอนิเมชันที่ผลิตและจัดจำหน่ายโดยค่ายดิสนีย์ ซึ่งคอการ์ตูนคงทราบกันดีว่ามีคาแรกเตอร์ที่รับบทนำเป็นผู้หญิงจำนวนไม่น้อย แต่ในทางกลับกัน ทีมผู้สร้างเบื้องหลังดิสนีย์สตูดิโอกลับเป็นผู้ชายมากถึง 81.09% ซึ่งหมายความว่าตัวการ์ตูนผู้หญิงส่วนใหญ่ ถูกบอกเล่าผ่านมุมมองของผู้ชาย อย่างไรก็ตาม แม้ความเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณจะยังเห็นภาพได้ไม่ชัดเจนนัก แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดิสนีย์ก็ได้ผลิตผลงานที่นำเสนอบทบาทผู้หญิงในแง่มุมใหม่ ๆ ที่ได้รับความสนใจและคำชมออกมามากมาย อย่างเช่น แอนิเมชั่นเรื่อง Brave (2012) ที่ทำลายภาพจำของการ์ตูนตระกูลเจ้าหญิงดิสนีย์ ด้วยการนำเสนอตัวละครเอกอย่างเจ้าหญิง Merida ที่ตั้งคำถามและท้าทายขนบของการเป็นเจ้าหญิงแบบเดิม ๆ หรือ แอนิเมชันภาคต่อชื่อดังอย่าง Incredibles 2 (2018) ที่สลับเอาบทบาทของ Elastigirl ขึ้นมาเป็น Working Woman ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ขณะที่พระเอกอย่าง Mr. Incredible ต้องอยู่บ้านดูลูก ๆ แทน ฯลฯ
ตัดสลับมาที่ฝั่งซีรีส์ ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ หากพูดถึง Paltform ที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นลำดับต้น ๆ ก็คงหนีไม่พ้น Netflix โดยในบรรดาสื่อบันเทิงฝั่งตะวันตก เมื่อเทียบกันแล้ว อุตสาหกรรมที่ให้พื้นที่กับผู้หญิงมากกว่าภาคส่วนอื่น ๆ ก็คงต้องยกให้กับสาย Streaming อย่างใน Netflix เอง ก็มีสัดส่วนของเบื้องหลังผู้หญิงอยู่ที่ 27.53% โดยซีรีส์บางเรื่องถูกอำนวยการสร้าง โดยทีมงานที่เป็นผู้หญิงล้วน เช่น Glow (2017), Girlboss (2017), Free Rein (2017) ฯลฯ ซึ่งเป็นภาพที่พบเห็นได้ค่อนข้างยากในภาคส่วนอื่นของอุตสาหกรรม
ข้ามฝั่งมาที่อุตสาหกรรมบันเทิงของบ้านเรา สำหรับผู้หญิงในแวดวงภาพยนตร์ไทยนั้น ยังคงมีสัดส่วนพื้นที่น้อยกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด โดยจากการสำรวจภาพยนตร์ไทยที่เข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์จำนวน 86 เรื่อง ซึ่งครอบคลุมทั้งภาพยนตร์กระแสหลักและนอกกระแส พบว่ามีบุคลากรเบื้องหลังที่เป็นผู้หญิงเพียง 19.10% เท่านั้น โดยเฉพาะในบทบาทผู้กำกับหญิง ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ มีให้เห็นเพียงไม่กี่เรื่อง เช่น อาปัติ (2015) ของ ขนิษฐา ขวัญอยู่, มหาสมุทรและสุสาน (2016) ของ พิมพกา โตวิระ หรือ ดาวคะนอง (2016) ของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ ฯลฯ
ในทางตรงกันข้ามสำหรับวงการละครไทย ผู้หญิงกลับมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับแวดวงภาพยนตร์ ทั้งในเบื้องหลังละครช่องโทรทัศน์หลัก และละครที่เผยแพร่ผ่านช่องทาง Streaming โดยแม้ในส่วนของผู้กำกับ จะยังคงมีผลงานของผู้หญิงให้ได้เห็นไม่มากนัก แต่ในบทบาทของผู้เขียนบทละครพบว่ามีเสียงจากนักเขียนผู้หญิง แทบจะเทียบเท่ากับนักเขียนผู้ชาย โดยการสำรวจละครกว่า 260 เรื่อง จาก 6 ช่องโทรทัศน์หลัก พบว่ามีสัดส่วนของนักเขียนบทผู้หญิงมากถึง 45.10% ในทำนองเดียวกัน สำหรับละครที่ฉายผ่านแอปพลิเคชั่น LINE TV ที่สำรวจเกือบ 40 เรื่อง มีสัดส่วนนักเขียนผู้หญิงเทียบเท่ากับผู้ชายอยู่ที่ 50%
อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศในภาพรวมนั้น โลกเบื้องหลังอุตสาหกรรมบันเทิงถือว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พื้นที่สำหรับผู้หญิงทั้งในละคร ซีรีส์ และภาพยนตร์ เปิดกว้างขึ้นมากยิ่งขึ้น หากเทียบย้อนกลับไปหลายทศวรรษก่อน เราได้เห็นภาพยนตร์ฟอร์ยักษ์รายได้ดีที่กำกับโดยผู้หญิง ซีรีส์ที่อำนวยการสร้างโดยทีมผู้หญิงล้วน ละครที่เขียนบทจากมุมมองผู้หญิง 100% และผู้กำกับหญิงที่คว้ารางวัลในเวทีระดับโลก อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลทั้งหมดที่ The Visual รวบรวมได้ จะเห็นได้ว่ายังคงมีบางพื้นที่ บางบทบาทที่ผู้หญิงยังไม่สามารถเข้าไปได้เต็มร้อย อันเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่คนในอุตสาหกรรมบันเทิงจะต้องขับเคลื่อนกันต่อไป เพื่อช่วยเปิดโอกาสให้กับเสียงของผู้หญิง ได้ถูกบอกเล่าผ่านภาพยนตร์และซีรีส์มากยิ่งขึ้นในอนาคต
📌 เนื่องในเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ หรือ Pride Month #ThaiPBS ขอเชิญร่วมสำรวจเรื่องราวความหลากหลายทางเพศ ซึ่งสะท้อนผ่านโลกซีรีส์และภาพยนตร์ สัมผัสข้อมูลด้วยตัวของคุณเองบนเว็บไซต์ในแบบ Interactive พร้อมกันได้ที่ 👉🏻 thevisual.thaipbs.or.th #TheVisualThaiPBS #GenderOnScreen