4 ธันวาคม นี้ นับเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่ใครหลายคนอาจยังไม่ทราบ นั่นก็คือ “วันสิ่งแวดล้อมไทย” ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อต้องการเน้นย้ำให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม อันยังคงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเรามาโดยตลอด สำหรับคนเมือง หนึ่งในหัวข้อสิ่งแวดล้อม ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางตลอดหลายปีที่ผ่านมา นอกจากเรื่องน้ำท่วม หรือ ฝุ่น PM 2.5 แล้ว “พื้นที่สีเขียว” ก็เป็นอีก Topic ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงตลอดในทุกวงสนทนาที่พูดคุยกันเรื่องสิ่งแวดล้อมเมือง
“กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพียงพอหรือไม่?” คงเป็นคำถามคาใจ ที่ใครหลายคนตั้งข้อสงสัยมาโดยตลอด เพราะแม้กรุงเทพฯ จะมีสวนสาธารณะสวย ๆ ชื่อดังหลายแห่ง แต่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดแล้ว พื้นที่สวนสาธารณะเหล่านี้ เพียงพอต่อการรองรับผู้ใช้งานทุกคนหรือไม่? นั่นคือคำถามสำคัญ
เมืองสิ่งแวดล้อมดี ต้องมีพื้นที่สีเขียว 9 ตร.ม./คน
องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยกำหนดไว้ว่า เมืองที่มีสิ่งแวดล้อมดี จะต้องมีพื้นที่สีเขียวในสัดส่วน 9 ตร.ม. ต่อประชากร 1 คน ดังที่มีให้เห็นในตัวอย่างหลายเมืองสำคัญทั่วโลก เช่น ปารีส 13 ตร.ม./คน เบอร์ลิน 24 ตร.ม./คนหรือเพื่อนบ้านของเราอย่างสิงคโปร์ ที่มีพื้นที่สีเขียวในสัดส่วนมากถึง 56 ตร.ม./คน กลับมามองที่กรุงเทพฯ โดยอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสวนสาธารณะ ในปี 2564 กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวทั้งหมด 40.79 ล้าน ตร.ม. ซึ่งคิดเทียบกับสัดส่วนประชากรแล้วอยู่ที่ประมาณ 7.93 ตร.ม./คน โดยเขตที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ บางขุนเทียน ประเวศ และคันนายาว
แม้พื้นที่สีเขียนจะยังไม่ถึงเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด แต่หากมองย้อนกลับไปในอดีต สัดส่วนพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ก็ถือได้ว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากข้อมูลของสำนักงานสวนสาธารณะ ที่เก็บย้อนไปถึงปี 2557 ซึ่งขณะนั้นกรุงเทพฯ ยังมีส่วนของพื้นที่สีเขียวต่อคนอยู่แค่เพียง 4.92 ตร.ม./คน
อย่างไรก็ดี ตัวเลข 7.93 อาจดูเข้าใกล้ความเป็นจริงที่กรุงเทพฯ จะได้มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวเพียงพอสำหรับทุกคน แต่หากมองลึกลงไปในรายละเอียดเราจะพบว่า พื้นที่สีเขียว 40.79 ล้าน ตร.ม. นี้ อาจไม่ใช่ทั้งหมดที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานโดยตรง หากพิจารณาจากเกณฑ์การนับพื้นที่สีเขียว จะพบว่านอกจากสวนสาธารณะแบบปกติแล้ว ยังมีการนับรวมสวนรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ได้ถูกออกแบบมา เพื่อให้ประชากร “ทุกคน” ใช้เป็นสถานที่สำหรับทำกิจกรรม หรือพักผ่อนหย่อนใจได้ เช่น สวนหย่อมขนาดเล็ก สวนตามหมู่บ้าน หรือ สวนถนน ทำให้ตัวเลข 40.79 ล้าน ตร.ม. นี้ ไม่ใช่ที่พื้นที่ที่คนกรุงเทพฯ ทุกคนจะสามารถใช้ประโยชน์จริงได้ทั้งหมด
ข้อมูลปี 62 กทม.มีพื้นที่สีเขียว 0.9 ตร.ม./คน.
ในปี 2562 ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) เคยเก็บข้อมูลเฉพาะสวนสาธารณะที่สามารถเข้าไปใช้งานได้จริง โดยเมื่อเทียบกับประชากรแล้วปรากฏว่า พื้นที่สีเขียวเหล่านั้นมีสัดส่วนอยู่เพียง 0.92 ตร.ม./คน เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่า เส้นทางการมีพื้นที่สีเขียวที่เพียงพอของคนกรุงเทพฯ นั้น ยังคงต้องลงมือลงแรงกันอีกยาวไกล
ถึงกระนั้นแม้จะยังไม่สามารถบอกได้ว่า คนกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวที่เพียงพอ แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทางการ กทม. ก็ได้พยายามจัดสรรให้มีพื้นที่สีเขียวใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นทุกปี อย่างที่เราจะได้เห็นสวนสาธารณะปรากฏขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สวยลอยฟ้าเจ้าพระยา บนสะพานทางเชื่อมระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี หรือในปีหน้าที่จะมีแผนเปิดตัวสวนสาธารณะอีกหลายแห่งเช่น สวนเทียนทะเลพัฒนาพฤกษาภิรมย์ ในเขตบางขุนเทียน สวนสาธารณะบริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 3 ในเขตทวีวัฒนา สวนป่านิเวศหนองแขม ในเขตหนองแขม และอีกหลายแห่ง
ติดตามอ่านเรื่องราวเพิ่มเติมของเมืองและพื้นที่สีเขียว ในรูปแบบเว็บไซต์ Interactive กับ Data Journalism ชุด คนกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอจริงหรือ ? ผ่าน https://thevisual.thaipbs.or.th/BangkokGreenSpace/
อ้างอิง