loader image

ทั่วโลกรับมืออย่างไร ?…ในวันที่ “เรียนทางไกล” ไม่มีใครปฏิเสธได้

การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นวิกฤติการณ์ที่แสนสาหัสสำหรับวงการการศึกษา คุณครู ผู้ปกครอง และนักเรียนทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากการประกาศปิดโรงเรียนที่ผลักให้พวกเขาต้องก้าวเข้าสู่ห้องเรียนในรูปแบบทางไกล (Remote Learning) อย่างไม่มีทางเลือก แน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่นี้ ตามมาด้วยองค์ประกอบมากมายที่ต้องนำมาพิจารณาไตร่ตรอง ตั้งแต่เรื่องเครื่องมือช่วยสอน สัญญาณอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ รวมไปถึง รูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนเดิม

ด้วยเหตุนี้ รัฐต่าง ๆ ทั่วโลกจึงจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามา ช่วยค้ำยันระบบการศึกษาไม่ให้พังทลาย ด้วยมาตรการหรือนโยบาย สนับสนุนในหลากหลายด้าน แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกรัฐในโลกที่จะจัดสรรความช่วยเหลือ ได้อย่างทั่วถึงครอบคลุม

องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และธนาคารโลก ทำการสำรวจใน 175 ประเทศทั่วโลก เพื่อรวบรวมมาตรการหรือนโยบายเกี่ยวกับการสนับสนุนชั้นเรียนทางไกลในแต่ละพื้นที่ โดยประเทศส่วนใหญ่ถึง 87.43% หรือราว 153 ประเทศ จากทั้งหมดที่สำรวจ ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนแพลตฟอร์มการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ และ E-Learning เป็นหลัก รองลงมาได้แก่การสนับสนุนในรูปแบบช่องโทรทัศน์สำหรับการเรียนรู้ ซึ่งมีขึ้นใน 133 ประเทศ หรือราว 76% ในทางตรงกันข้าม ทรัพยากรอย่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสัญญาณ อินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเครื่องมือจำเป็นหากจะจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ กลับมีเพียง 8 ประเทศ หรือคิดเป็น 4.57% เท่านั้น ที่มีการสนับสนุน ส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ เช่น แคนาดา สหรัฐฯ เยอรมนี ฟินแลนด์ ฯลฯ

ในจำนวนประเทศเหล่านี้ สหราชอาณาจักร ถือเป็นอีกประเทศที่มีโมเดลการให้ความช่วยเหลือในยุคโควิด-19 ที่น่าสนใจ เริ่มตั้งแต่การจัดสรรอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้ง Laptop Tablet ไปจนถึง Router กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ต 4G ให้กับเด็กที่ขาดแคลน โดยสามารถเข้ามาเขียนคำร้องได้ในหน้าเว็บไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการ รวมไปถึงองค์การสื่อสาธารณะอย่าง BBC ก็ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเสริม Content การศึกษาตามแบบเรียน นำออกอากาศทางช่อง CBBC, BBC Two และ iPlayer เพื่อช่วยทำให้เด็กที่อาจตกขบวน สามารถเรียนตามเพื่อน ๆ ได้ทัน และดึงแพลตฟอร์มทางการศึกษาอย่าง BBC Bitesize มาเป็นแหล่งรวบรวมเครื่องมือการเรียนรู้ที่เด็กอังกฤษทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ โดยอัดแน่นไปด้วยบทเรียนในรูปแบบวิดีโอ Podcast บทความ และยังมีการเทียบเชิญนักวิชาการชื่อดังมาช่วยสอนในบางรายวิชา เช่น เซอร์เดวิด แอดเทนบะระ นักธรรมชาติวิทยา มาสอนวิชาภูมิศาสตร์ หรือ ศ. ไบรอัน คอกซ์ นักฟิสิกส์ มาสอนเรื่องแรงโน้มถ่วงและระบบสุริยะ เป็นต้น

การเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตถือเป็นอีกอภิมหาปัญหา ที่ขัดขวางเด็ก ๆ ในหลายประเทศจากการเรียนทางไกล โดยเฉพาะประเทศส่วนใหญ่ในแถบแอฟริกา เราจึงได้เห็นวิธีการพยายามแก้ปัญหาที่ต่างกันไปในแต่ละประเทศ อย่างในเคนย่า ก็ได้มีการจับมือกันระหว่างสำนักงานการบินพลเรือนกับ Alphabet Inc. และ Telekom Kenya ส่งบอลลูนหลายลูกลอยขึ้นเหนือน่านฟ้า เพื่อสร้างโครงข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ต 4G ให้กระจายครอบคลุมพื้นที่ห่างไกล โดยบอลลูนแต่ละลูกจะสามารถกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ภายในรัศมี 40 กิโลเมตรโดยรอบ

ไม่เพียงแค่ในระดับรัฐเท่านั้น แต่โรงเรียนหลายแห่งทั่วโลกก็ได้มีกลวิธีช่วยเหลือเด็กที่แตกต่างกันไปตามบริบท โดยหลายที่ก็มีไอเดียสร้างสรรค์และน่าสนใจ อย่างโรงเรียนในรัฐแอริโซนา เท็กซัส อินเดียนา และ เซาท์แคโรไลนา ของสหรัฐฯ ซึ่งประยุกต์เอารถรับส่งนักเรียนคันสีเหลือง ที่ช่วงมีการระบาดหนักถูกปลดประจำการจากคำสั่งปิดโรงเรียน นำมาปฏิบัติหน้าที่อีกครั้งโดยติด Router Wi-Fi กระจายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และส่งเข้าไปยังย่านชุมชนห่างไกล ที่เด็ก ๆ จากหลายครัวเรือนไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ทำให้เด็ก ๆ เหล่านั้น สามารถเข้าถึงชั้นเรียนออนไลน์ในช่วงกลางวันได้

ในทำนองเดียวกันคุณครูประจำชั้นเรียนหลายท่าน ก็พยายามคิดหาวิธีการนำเสนอบทเรียนด้วยรูปแบบ หรือ แพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้เด็กยังสามารถจดจ่ออยู่กับบทเรียนได้ตลอดรอดฝั่ง โดยไม่หลับคาหน้าจอคอมพิวเตอร์ไปเสียก่อน อาทิ Myron Curtis คุณครูสอนวิชาประวัติศาสตร์จากโรงเรียนมัธยมปลายในรัฐเวอร์จิเนีย ที่ต้องสอนทางไกลเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 และทำให้ในรายวิชาของเขา ซึ่งปกติต้องมีการไปทัศนศึกษาไม่สามารถทำได้ คุณครู Curtis จึงนำเอาเทคโนโลยีอย่าง Virtual Tour มาช่วยเป็นอีกหนึ่งสื่อการสอน เพื่อให้เด็ก ๆ ในชั้นเรียนได้เรียนรู้เสมือนไปเยือนสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์จริง ๆ นอกจากนี้เพื่อไม่ให้รู้สึกห่างเหิน ครู Curtis ยังได้พาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกของเด็ก ๆ โดยการถ่ายคลิปเกี่ยวกับบทเรียน หรือตั้งคำถาม ให้นักเรียนในชั้นได้เข้ามาช่วยตอบและแลกเปลี่ยนกันบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Twitter และ TikTok ส่วนตัวของเขา

ทั้งหมดนี้เป็นภาพเพียงบางส่วนเท่านั้น ของรูปแบบการปรับตัวในหลากหลายระบบการศึกษา ที่พยายามดิ้นรนเพื่อให้การเรียนการสอนยังดำเนินต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม การเรียนทางไกลในสเกลใหญ่ระดับนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ ทำให้ไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่า นโยบาย มาตรการ หรือโมเดลการเรียนแบบไหน ตอบโจทย์หรือใช่ที่สุดสำหรับการแก้ปัญหา อันเป็นภาระหน้าที่ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งต้องลองผิดลองถูกกันต่อไป เพื่อช่วยประคับประคองให้วงล้อแห่งการศึกษายังเดินหน้าต่อไปได้

Like This? Share It!