loader image

The Visual by Thai PBS ชั้นเรียนทางไกลความท้าทายใหม่ของคุณครู

ชั้นเรียนทางไกล (Remote Learning) อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปิดสถานศึกษา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบใหญ่หลวงไม่เพียงต่อตัว นักเรียน หรือพ่อแม่ ผู้ปกครอง เท่านั้น แต่สำหรับคุณครู ผู้เป็นทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของกิจกรรมการเรียนรู้ส่วนใหญ่ในห้องเรียน ก็ได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

ระยะทางที่ห่างไกลจากลูกศิษย์ กดดันให้คุณครูทั่วทั้งประเทศต้องรับมือกับความท้าทายครั้งใหญ่ ที่หลายคนอาจไม่เคยคาดฝันหรือเตรียมรับมือมาก่อน การปรับตัวมากมายต้องเกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันจำกัด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบบทเรียน สื่อการสอน การวัดประเมินผล ยังไม่รวมถึงปัญหาอีกมากที่ตามมาหลังจากนักเรียนต้องใช้ชีวิตไกลห้องเรียนเป็นเวลายาวนาน ทั้งความไม่พร้อมเรื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปจนถึงสภาวะเครียด อันเป็นผลมาจากการขาดปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวกับเพื่อน ๆ ร่วมชั้น ซึ่งคุณครูก็ถือเป็นด่านหน้าที่ใกล้ที่สุดที่ต้องคอยโอบอุ้ม ประคับประคองให้ห้องเรียนยังเดินหน้าต่อไปได้ 

เพื่อสะท้อนเสียงคุณครูถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี ของชีวิตไกลห้องเรียน The Visual Thai PBS จึงจัดวงเสวนาชวนพูดคุยในหัวข้อ The Visual Talk: ชั้นเรียนทางไกล ความท้าทายใหม่ของคุณครู โดยได้เชิญคุณครู/อาจารย์ 3 ท่าน จาก 3 ช่วงชั้นที่ต่างกัน มาพูดคุยแลกเปลี่ยน ประกอบด้วย ครูท็อป – อนวัช นันทะเสน คุณครูระดับชั้นมัธยมต้น โรงเรียนเปียงหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ครูกั๊ก – ร่มเกล้า ช้างน้อย คุณครูระดับชั้นมัธยมปลาย โรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม กรุงเทพฯ และอาจารย์โจโจ้ ดร. กังวาฬ ฟองแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี

“ข้อดีของห้องเรียน Facebook แบบไม่ Real Time ก็คือผมสามารถลงคลิปการสอนย้อนหลังในแต่ละเรื่อง คลิปหนึ่งก็ไม่เกิน 5 – 10 นาทีได้ และในนั้นก็จะมีกิจกรรม แบบฝึกหัดให้ทำ โดยเด็ก ๆ สามารถเข้ามาเรียนเวลาไหนก็ได้ อย่างในพื้นที่ของเรา ถ้าฝนตก ไฟฟ้าก็อาจจะดับ สัญญาณหาย บางคนอุปกรณ์ไม่ได้พร้อม และก็มีเรื่องของการเติมเงินโทรศัพท์ ดังนั้นห้องเรียน Facebook ก็เลยตอบโจทย์เพราะว่านักเรียนจะเข้ามาดูเมื่อไหร่ก็ได้ แต่นอกจาก Facebook แล้ว ผมก็จะมีรูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom อาทิตย์ละ 1 – 2 ครั้ง เอาไว้สอนเรื่องใหม่ ๆ หรือไว้พูดคุยเพื่อให้เด็ก ๆ ไม่เหงา อย่างน้อยเขาก็ได้คุยกับเรา แต่ว่ารูปแบบนี้ อย่างผมสอนนักเรียน 108  คน ก็จะเข้ามาฟังได้แค่ประมาณ 35 คน คือเป็นนักเรียนที่มีความพร้อมจริง ๆ” ครูท็อปเล่า 

ด้าน ครูกั๊ก – ร่มเกล้า ช้างน้อย แบ่งปันประสบการณ์การปรับเปลี่ยนชั้นเรียนคณิตศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่โรงเรียนมัธยมวัดดุสิตารามว่า เขาเริ่มด้วยการจัดทำวิจัยในชั้นเรียน เพื่อหารูปแบบการสอนใหม่ ๆ ที่จะมีประสิทธิภาพ มากกว่าการแค่ประคับประคองให้ห้องเรียนออนไลน์แบบเก่าพอไปต่อได้ และหวังมาเก็บเกี่ยวตอนสถานการณ์กลับมาปกติภายหลัง ซึ่งครูกั๊กมองว่าเป็น Mindset ที่ควรต้องเปลี่ยน โดยเริ่มจากทดลองการสอนรูปแบบที่แตกต่างออกไปในแต่ละสัปดาห์ เพื่อค้นหาวิธีการที่เหมาะกับนักเรียนในชั้นมากที่สุด 

“ผมเชื่อว่าต่อให้ดูวิธีการสอนหลาย ๆ วิธี ถ้าเราไม่เอามาปรับให้เหมาะสมกับเด็กเรา ยังไงมันก็ไม่ Work สำหรับผม เราเปิด 2 ช่องทาง มีทั้งวิธีการสอนสดใช้การถาม-ตอบ กับแบบที่สองเป็น Platform ให้เด็กเข้าไปเลือกเรียนได้เองถ้าเขาไม่สามารถมาเรียนสดกับเราได้ ในระหว่างที่เรียนก็มีการเปิดเพลงประกอบเกี่ยวกับบทเรียนให้เขาฟังไปด้วย แต่สิ่งที่มา Work จริง ๆ คือช่วงพฤษภาที่ผ่านมา คือเราเอาสิ่งที่ได้จากวิจัยในชั้นเรียนและการทำวงคุยกับคุณครูต่างโรงเรียนมาใช้ นั่นก็คือการกลับไปที่แก่นของวิชาว่าเราสอนไปทำไม อย่างคณิตศาสตร์ ถ้าเราสอนเฉย ๆ มันคือวิชาสร้างปัญหา แต่ถ้าเราเอาปัญหาในชีวิตประจำวันเป็นตัวตั้งและเอาคณิตฯ เข้าไป เป็นตัวช่วยแก้ปัญหา มันก็จะทำให้คณิตศาสตร์ไม่น่าเบื่อ” ครูกั๊กเสริม 

ขณะที่ อาจารย์โจโจ้ – ดร. กังวาฬ ฟองแก้ว ได้สะท้อนถึงความช่วยเหลือจากภาคส่วนอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องเข้ามามีบทบาท นอกเหนือจากตัวคุณครูเอง นั่นก็คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หรือสถานศึกษา ภาคส่วนเหล่านี้ต้องไม่ปล่อยให้ภาระรับผิดชอบชั้นเรียนเป็นหน้าที่ของคุณครูแต่เพียงผู้เดียว อาจารย์โจโจ้ยกตัวอย่างระบบ Coaching ซึ่งเป็นปัจจัยที่ภาครัฐควรมีให้ เนื่องจากไม่ใช่คุณครูทุกคนจะพร้อมรับกับการปรับตัว คุณครูที่ไม่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีก็จะไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ได้ นอกจากนี้การวางแผนและวัคซีค ก็เป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ควรต้องมาถึงทั้งนักเรียนและครูโดยเร็ว

“ตอนนี้ต้องการแผนมาก ๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เวลาไปถามว่าเราจะเรียนในห้องเรียนได้เมื่อไหร่ คำตอบที่เหมือนกันก็คือ ‘รอคำสั่ง’ คืออนาคตของชาติมันรอคำสั่งไม่ได้ มันควรจะมีคำสั่งที่ออกมาให้กับเราในฐานะผู้ปฏิบัติการ มองได้ว่าอีก 3 เดือน เราจะทำอะไร อีก 6 เดือนเราจะทำอะไร เวลาวางแผนการสอนเราไม่ได้วางเป็นเทอม เราต้องวางปีต่อปี บางคนต้องวางทั้ง 4 ปี เพราะบางวิชาเป็น Prerequisite คือต้องผ่านวิชานี้ก่อน ถึงจะต่อวิชานี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาปฏิบัติการ บางวิชาต้องเลื่อนมาปีครึ่ง คุณจะให้นิสิตเรียน 6 ปี 7 ปี กันหรือไง ดังนั้น แผนต้องการมาก และสิ่งสุดท้าย ทุกอย่างที่เราคุยกันในวันนี้จะหายไป จะถูกปลดล็อกหมด นิสิตไม่ต้องเป็นโรคซึมเศร้า อาจารย์ไม่ต้องมานั่งหาวิธีการสอน ถ้าเราทุกคนได้วัคซีน มีภูมิคุ้มกันหมู่” อาจารย์โจโจ้ทิ้งท้าย 

จากการพูดคุยกว่าหนึ่งชั่วโมงสะท้อนให้เห็นว่า คุณครูแต่ละท่านล้วนมีวิธีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนที่สร้างสรรค์ และแตกต่างกันออกไป ตามบริบทของแต่พื้นที่และช่วงชั้น อย่างไรก็ตามใจความสำคัญของการปรับตัว คือคำนึงถึงความต้องการของนักเรียนเป็นหลัก ซึ่งแต่ละคนล้วนไม่เหมือนกัน โดยต้องจัดสรรช่องทางให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงชั้นเรียนได้ เหนืออื่นใด “ความท้าทายใหม่” ครั้งนี้ ไม่ควรตกเป็นภาระรับผิดชอบของคุณครูแต่เพียงผู้เดียว แต่หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในระดับที่กำหนดนโยบาย ต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบและร่วมมือกับคุณครู ก้าวผ่านความท้าทายนี้ไปพร้อม ๆ กัน  


#TheVisualThaiPBS เชิญชวนทุกท่าน ร่วมแชร์ไอเดีย ห้องเรียนออนไลน์แบบไหน…”ใช่”…สำหรับเด็กไทย คลิก 👉 https://thevisual.thaipbs.or.th/Learningideas 

ไอเดียใครปังที่สุด! สร้างสรรค์ แปลกใหม่ และดู “ใช่” สำหรับเด็กไทย ทีมงานมีของที่ระลึกเป็นสายชาร์จ 3 in 1 จาก The Visual มอบให้จำนวน 20 รางวัลอยากฟังความเห็นของทุกท่านส่งคำตอบเข้ามกันเยอะ ๆ นะคะ 

Like This? Share It!