loader image

The Visual by Thai PBS นวัตกรรม/การศึกษา ทางเลือกใหม่ มีบทบาทอย่างไร? ในยุคโควิด-19

ปัญหาจากชั้นเรียนทางไกลกลายมาเป็นวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่สำหรับแวดวงการศึกษาไทยทั่วประเทศ สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 บุคลากรด่านหน้าทั้งคุณครู นักเรียน ผู้ปกครอง ต้องเร่งปรับตัวและหาทางออก เพื่อคงให้กิจกรรมทางการศึกษายังดำเนินต่อไปได้ แต่ไม่เพียงแค่ บ้าน หรือ โรงเรียนเท่านั้น อีกตัวแปรสำคัญที่ต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบและร่วมแก้ไขปัญหา นั่นก็คือภาครัฐโดยเฉพาะในระดับที่สามารถกำหนดนโยบายหรือทิศทางของระบบการศึกษาได้ นอกเหนือจากนี้ในหลายประเทศรวมถึงไทย เราก็ยังได้เห็นภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคม เริ่มยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือระบบการศึกษาด้วยวิธีการที่ต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำโมเดลการศึกษาทางเลือก ที่อาจจะตอบโจทย์กับช่วงวิกฤตมากกว่าแนวทางจัดการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ หรือนวัตกรรมสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่จะมาช่วยให้การเรียน/สอน ออนไลน์เป็นเรื่องง่ายขึ้น 

เพื่อสำรวจทางเลือกใหม่ ๆ The Visual Thai PBS จึงจัดวงสนทนาแลกเปลี่ยนไอเดียระหว่างนักการศึกษาและนวัตกร ผู้ออกแบบแนวทางแก้ปัญหาใหม่ ๆ ให้กับการศึกษาไทยในยุคโควิด-19 ในหัวข้อ The Visual Talk นวัตกรรม/การศึกษา ทางเลือกใหม่ มีบทบาทอย่างไร? ในยุคโควิด-19 ประกอบไปด้วย คุณแพร – ดร. นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education ผู้ร่วมพัฒนาโมเดลการเรียนรู้รูปแบบใหม่อย่าง “Learning Box” คุณนะโม – ชลิพา ดุลยากร Co-Founder เพจ “insKru” พื้นที่แลกเปลี่ยนไอเดียการสอนของคุณครูที่มีผู้ติดตามมากกว่า 200,000 คน และ คุณสมยศ เกียรติอร่ามกุล ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์เนื้อหา องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ Thai PBS ผู้ดูแลช่องโทรทัศน์แห่งการเรียนรู้อย่าง  ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก 

ดร. นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร หรือ คุณแพร บอกเล่าเรื่องราวของโรงเรียนบ้านปลาดาว ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนประเภทศึกษาสงเคราะห์ ในตำบลแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก โรงเรียนบ้านปลาดาวภายใต้การดูแลของ Starfish Education ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับโรงเรียนอื่น ๆ การประกาศปิดสถานศึกษา ส่งผลให้ทางโรงเรียนต้องคิดหากลวิธีเพื่อทำให้กิจกรรมในห้องเรียนยังดำเนินต่อไปได้ แต่ด้วยพื้นฐานของโรงเรียนที่เน้นการสอนแบบ Project และ Problem Based Learning ซึ่งให้ความสำคัญกับนวัตกรรม และบทเรียนที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก ประกอบด้วยนักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์ ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้น้อย การขยับห้องเรียนทั้งหมดมาเป็นรูปแบบออนไลน์จึงอาจไม่ตอบโจทย์ โมเดล “Learning Box” จึงเกิดขึ้น 

“ก่อนที่จะมาเป็น Learning Box เราก็ต้องดูจากความต้องการของผู้เรียนก่อน ปัจจัยที่เราดู เราดูอายุของเด็ก เราดูวิธีจัดการเรียนการสอนตามปกติของเรา ดูว่าเขาสามารถเข้าถึงอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ตได้ไหม ดูเรื่องความพร้อมของผู้ปกครอง พอเราดูปัจจัยทั้งหมดนี้แล้ว เราจึงออกแบบมาเป็นตัว Learning Box อย่างที่โรงเรียนบ้านปลาดาว เราจัดการเรียนการสอนแบบ Preject Based ที่เด็กสามารถทำกิจกรรมได้เอง เพราะฉะนั้นกิจกรรมในกล่องก็จะเป็นสิ่งที่เขาทำได้ที่บ้าน โดยเราเอาอุปกรณ์ใส่ลงไปให้เขา ตัว Booklet (แบบฝึกหัด) ก็เป็นการสื่อสารกับผู้ปกครองแบบง่าย ๆ ซึ่งกล่องนี้ก็จะไปกับครู ครูเป็นคนเอาไปให้ แต่ในบางชุมชนที่ปิด ก็จะมีการประสานกับอาสาสมัครในชุมชนซึ่งอาจจะเป็นผู้ปกครอง หรือ พี่โตของเรา เขาก็จะช่วยน้อง ๆ ในการจัดการเรียนการสอน ตัวกล่องที่เราเน้นย้ำก็ต้องมีครูที่สามารถทำงานกับผู้ปกครองได้ มีชุมชนที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ และที่สำคัญสิ่งที่เราให้เด็กทำมันต้องไม่ยากเกินไป ต้องเป็นอะไรที่เขาอยากเรียนรู้ เพราะถ้าสิ่งที่อยู่ในกล่องมันยากเกินไป ผู้ปกครองทำไม่ได้เด็กทำไม่ได้ มันก็จะถูกวางไว้และไม่ได้เกิดการเรียนรู้” คุณแพรอธิบาย

ด้าน ชลิพา ดุลยากร หรือ คุณนะโม ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการก่อตั้งเพจ insKru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 200,000 คนว่า เกิดจากการตั้งขอสังเกตถึงวัฒนธรรมห้องเรียนสมัยก่อน ที่ไม่ค่อยมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่างคุณครู ทำให้องค์ความรู้ด้านการสอนหลายอย่างอาจจะหายไปพร้อม ๆ กับคุณครูท่านนั้น ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย โดยจากประสบการณ์คุณนะโมเชื่อว่าคุณครูท่านหนึ่งคงไม่สามารถคิดรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับทุกคาบ ทุกสถานการณ์ได้ เพราะฉะนั้นหากมีพื้นที่ส่วนกลางให้ครูแต่ละท่านได้เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เทคนิค องค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ถูกค้นพบ ก็น่าจะเป็นอีกหนทางที่ช่วยขับเคลื่อนกระบวนการทางการศึกษาได้ ก่อนจะกลายเป็นเครื่องมือที่เห็นประโยชน์ได้อย่างชัดเจนในช่วงที่โควิด- 19 เข้ามา 

“แรงบันดาลใจก็คืออยากขับเคลื่อนห้องเรียน จริง ๆ แล้วการเรียนรู้มันเป็นไปได้อีกมากมายเลย มีความเป็นไปได้ในการจัดการเรียนรู้เยอะแยะเต็มไปหมด ถ้าเรามีพื้นที่ให้คุณครูได้เอาคาบที่เขารู้สึกว่าประทับใจ มาแชร์กับครูคนอื่นผ่านพื้นที่ออนไลน์ได้ มันจะไม่ถูกจำกัดแล้วว่าอยู่จังหวัดไหน พื้นที่ใด และมันก็จะได้เป็นการขับเคลื่อนทางการศึกษาที่มาจากแนวราบ หรือมาจากครูตัวเล็ก ๆ มันไม่ใช่เราเอาตัวอย่างจากฟินแลนด์มา และครูก็จะรู้สึกว่าแล้วเราจะทำได้เหรอ แต่ถ้าเรามีไอเดียการสอนจากครูไทยเหมือนกัน อยู่ในระบบเหมือนกัน มีภาระงานที่โดนดึงเวลาไปเหมือนกัน คุณครูจากห้องเรียนอื่น ๆ เขาก็จะได้เห็นถึงความเป็นไปได้มากขึ้นว่า ก็ยังมีครูที่เจอสภาวะเดียวกันก็ยังทำแบบนี้ได้ มันจะเป็นการขับเคลื่อนในเชิงวัฒนธรรม ที่ใช้กลุ่มคนช่วยกันดันไป โดยไม่ได้มี Standard ว่า การสอนที่ดีเป็นอย่างไร แต่การสอนที่ดีเกิดจากทุก ๆ คนช่วยแบ่งปันกัน” คุณนะโมเสริม 

ขยับมาที่ฝั่งสื่อสาธารณะอย่าง Thai PBS ซึ่งช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ก็ได้มีส่วนเข้ามาช่วยเหลือเด็กนักเรียนเช่นกัน ผ่านช่องทางทีวีเพื่อการเรียนรู้อย่าง ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก คุณสมยศ เกียรติอร่ามกุล ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์เนื้อหา ของ Thai PBS บอกเล่าถึงที่มาที่ไปของช่อง ALTV ว่าเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับช่วงที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดใหม่ ๆ ประมาณเดือนมีนาคมของปี 2564 โดย Thai PBS ได้ขอความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ส.พ.ฐ.) จัดตั้งช่องโทรทัศน์เพื่อการเรียนรู้ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ๆ เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนและคุณครู ในการเป็นอีกหนึ่งสื่อการเรียนการสอนทางเลือก จัดตั้งเสริมขึ้นมานอกเหนือจากช่อง DLTV

“ALTV ทำงานหลัก ๆ อยู่ 4 เรื่อง

  • เรื่องแรกคือทำหน้าที่เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ เป็นเสมือนห้องเรียน On-Air มีกลุ่มรายการติวเข้ม โดยยกหลักสูตรในห้องเรียนมาสอนผ่านวิธีการแบบติวเตอร์ มีการเชิญคุณครูพันธุ์ใหม่ คุณครูที่เป็น YouTuber ติวเตอร์ชื่อดัง มาสอนตามรายวิชาต่าง ๆ เพื่อนช่วยให้เด็กนักเรียนที่อาจจะเรียนในห้องไม่ทัน เรียนตามทันเพื่อน ๆ 
  • ส่วนที่ 2 คือ เราทำงานร่วมกับเครือข่ายอย่างสถานีวิทยุจุฬาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีกหลายหน่วยงาน เพื่อสร้างรายการสอน On-Air ขึ้นมา 
  • 3 คือเราทำงานในพื้นที่ โดยเอาโทรทัศน์จอตู้ไปแจกตามโรงเรียนห่างไกล เพราะถึงแม้อินเทอร์เน็ตจะสำคัญ แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่อินเทอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึง นักเรียน ครู ยังต้องการโทรทัศน์อยู่ 
  • และส่วนสุดท้ายเรากำลังทำงานเชื่อมโยง จากหน้าจอทีวีมาสู่ออนไลน์ พัฒนาเว็บไซต์ ALTV ให้ทำหน้าที่เป็นเหมือนพื้นที่การเรียนรู้ที่เชื่อมกับหน้าจอ เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้กับติวเตอร์ชื่อดัง และดาวน์โหลดแบบฝึกหัด ออกมาเรียนพร้อม ๆ กับหน้าจอได้  และกำลังพัฒนาให้กลายเป็น Community สำหรับเด็ก ครู และผู้ปกครอง” คุณสมยศแจกแจง 

จากทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า นอกเหนือจากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ หรือบุคลากรในแวดวงการศึกษาแล้ว ภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคมก็พร้อมที่จะสนับสนุนและช่วยเหลือผลักดันวงล้อทางการศึกษาไทย ให้ยังขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยบางครั้งวัฒนธรรมห้องเรียนแบบเดิม ๆ ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์กับทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤติเช่นนี้ ทำให้การแลกเปลี่ยน นำเสนอ โมเดลการสอนหรือนวัตกรรมรูปแบบใหม่ ๆ เป็นสิ่งจำเป็นเพื่ออุดช่องโหว่ปัญหา ที่การศึกษารูปแบบเดิม ๆ อาจยังไม่สามารถแก้ไขได้ 

Like This? Share It!