loader image

ผู้สูงอายุ คนพิการ ใช้ชีวิตอย่างไร ในเมืองที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทุกคน

น้ำขังใต้ฟุตพาท…

ทางลาดชันเกิน…

ทางเดินไม่ต่อเนื่อง……และอีกหลายความทรมานที่ผู้สัญจรผ่านโครงสร้างขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ของเมืองกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกันอยู่ทุกวัน

การเดินทาง หรือใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะของคนเมือง ไม่เคยเป็นเรื่องง่าย แม้จะเป็นหนุ่มสาว วัยทำงาน หรือผู้ที่ไม่ได้มีความพิการใด ๆ ก็คงรับรู้ได้ไม่ยากว่าสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่างในพื้นที่สาธารณะนั้น ไม่เคยอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างสะดวกโล่งใจ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงกลุ่มที่มีข้อจำกัดอย่าง ผู้สูงอายุ หรือคนพิการ ที่การชีวิตในแต่ละวันไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ในพื้นที่สาธารณะ หรือในระหว่างเดินทางนั้น ยิ่งเปรียบเสมือนฝันร้าย

หนึ่งในสาเหตุของปัญหาเหล่านี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพราะการออกแบบเมืองที่ยังไม่ได้คำนึงถึงการใช้งานของประชากรทุกคนอย่างแท้จริง โดยจากสภาพสังคม ณ ปัจจุบัน พลเมืองที่มีข้อจำกัดถือได้ว่าอยู่ในสัดส่วนที่รัฐไม่อาจมองข้ามได้ ในปี 2563 มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) รายงานว่า 18% ของประชากรเป็นกลุ่มผู้มีอายุเกินกว่า 60 ปี หรือราว 12 ล้านคน และมีการคาดการณ์ว่าในปีนี้ ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุมากถึง 20% และก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” ขณะที่ฝั่งคนพิการ ข้อมูลจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายงานว่าในปี 2564 3.2% ของประชากรไทยเป็นกลุ่มคนพิการ ซึ่งตีเป็นจำนวนกว่า 2 ล้านคน และเกินครึ่งเป็นคนพิการที่มีความบกพร่องทางด้านการเคลื่อนไหว

โดยภาพรวมเราจะเห็นว่า ประชากรผู้มีข้อจำกัดไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือ คนพิการ มีสัดส่วนมากถึงกว่า 20% ของคนไทยทั้งหมด คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ การออกแบบในเมืองไทยรองรับการใช้ชีวิตของพวกเขาเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน 

ชีวิตในบ้านที่ไม่อุ่นใจอย่างที่ควร

.

 บ้าน หรือที่อยู่อาศัย ถือได้ว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างพื้นฐาน ที่ควรเอื้อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย แต่สำหรับประชากรบางกลุ่ม บ้านเรือนในประเทศไทยกลับไม่ใช่สถานที่ที่อุ่นใจอย่างที่ควรจะเป็น

กลุ่มผู้สูงอายุเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด โดยข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ในแต่ละปีมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากเหตุพลัดตกหกล้มเกือบ 1,000 คนต่อปี โดยในปี 2562 มีผู้สูงอายุพลัดตกหกล้มเสียชีวิตถึง 1,318 คน และ 31% เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเคหสถาน 

อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วง เกี่ยวกับเรื่องผู้สูงอายุและที่พักอาศัย นั่นคือลักษณะโครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้ชีวิต 

กิจวัตรต้น ๆ ที่ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงเพื่อป้องกันการบาดเจ็บคือการขึ้น-ลงบันได แต่จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชากรไทยในปี 2557 พบว่า ผู้สูงอายุถึง 43% ต้องอาศัยอยู่ในบ้าน 2 ชั้น ประกอบกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ไม่ครบครัน โดยข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยเผยว่า 40.4% ของบ้านในประเทศไทยไม่มีราวบันได ขณะที่ 90.3% ไม่มีราวจับในห้องน้ำ และ 97% ไม่มีราวจับในห้องนอน ซึ่งล้วนเป็นส่งอำนวยความสะดวกที่ผู้สูงอายุ หรือแม้แต่คนพิการหลายกลุ่มจำเป็นต้องใช้งาน 

การเดินทางที่ไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด 

แม้แต่ในมุมมองของคนเมืองส่วนใหญ่ ที่ไม่ได้มีความพิการ ก็คงเห็นพ้องกันได้ไม่ยากว่าการเดินทางในกรุงเทพฯ นั้น ไม่เคยทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ในขณะที่จากมุมมองคนพิการ การเดินทางในเมืองอย่างกรุงเทพฯ แทบจะกลายเป็นฝันร้ายสำหรับพวกเขา 

หนึ่งในกลุ่มคนพิการที่ได้รับผลกระทบจากโครงสร้างเมืองอันโหดร้าย ก็คงหนีไม่พ้นกลุ่มคนพิการทางด้านการเคลื่อนไหวที่ต้องอาศัยวีลแชร์ในการเดินทาง ตั้งแต่สิ่งปลูกสร้างพื้นฐานที่สุดอย่างทางเท้า ซึ่งควรถูกออกแบบมาเพื่อให้คนเดินถนนทุกคน สัญจรไปมาได้อย่างสะดวกปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงแล้วบล็อกอิฐที่ไม่สม่ำเสมอ สิ่งกีดขวางเช่นเสาไฟ ป้ายกั้นทาง ฯลฯ หรือ ทางขึ้น – ลง ฟุตบาทที่ชันเกินไป ทำให้การเดินทางโดยใช้วีลแชร์ด้วยตัวเองนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้และอันตรายสุด ๆ 

หรือเมื่อพูดถึงขนส่งสาธารณะ คนพิการผู้ต้องใช้วีลแชร์ ก็ยังต้องเผชิญหน้ากับข้อจำกัด อย่างเช่น การเดินทางขึ้น-ลง สถานีรถไฟฟ้า ที่แม้ว่าจะมีกฎหมายบังคับให้ทุกสถานีต้องมีลิฟต์และทางลาด เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้วีลแชร์ แต่สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ก็ไม่ได้มีทุกทางออก โดย The Visual ได้ทำการสำรวจสถานีรถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT จำนวน 116 สถานี พบว่ามีเพียง 10 สถานีเท่านั้น ที่มีลิฟต์ประจำจุดครบทุกทางออก 

หรือขนส่งที่ราคาประหยัดลงมาหน่อยอย่างรถเมล์ ก็ยังไม่สามารถรองรับการใช้บริการของผู้นั่งรถวีลแชร์ได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้จะมีรถเมล์ประเภทชานต่ำ หรือ Low-Entry ที่มีส่วนของทางลาดที่ดึงเข้ามาชิดกับฟุตบาท เพื่อให้เข็นวีลแชร์ขึ้นไปได้ แต่จากการสำรวจรถเมล์ ขสมก. จำนวน 2,888 คัน พบว่ามีรถเมล์ชานต่ำให้บริการเพียง 489 คัน ตามข้อมูลของเพจรวมเรื่องราวรถเมล์อย่าง Mayday

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงภาพเสี้ยวหนึ่งเท่านั้นของปัญหาการออกแบบเมืองที่ไม่ตอบโจทย์ โดยยังไม่ต้องเอ่ยถึงปัญหาสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่จอดรถ ห้องน้ำ อุปกรณ์ให้แสงสว่างและอีกมากมาย ที่ยังคงมีประเด็นให้ได้วิพากษ์วิจารณ์กันไม่จบสิ้น ทั้งนี้ต้นตอปัญหาการออกแบบสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ อาจมาจากข้อผิดพลาดในหลักคิดตั้งแต่เริ่ม ที่ยังไม่ได้คำนึกถึงการใช้งานของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่มข้อจำกัดอย่างแท้จริง หรือที่ในแวดวงนักออกแบบเรียกกันว่า Universal Design โดยหากเราต้องการสร้างเมืองที่ไม่หลงลืมใครไว้ข้างหลัง หลักคิดนี้ก็ควรเป็นหัวข้อบทสนทนาที่เราทุกคนต้องหันมาพูดคุย และให้ความสำคัญกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ เสียที


The Visual Thai PBS ชวนทุกคนร่วมสัมผัสชีวิตผู้สูงอายุ/คนพิการ ในเมืองที่ไม่ตอบโจทย์ พร้อมหาแนวทางออกแบบเมืองที่ใช่สำหรับทุกคน พร้อมกันที่ The Visual: ออกแบบอย่างไร? ไม่ให้ทิ้งใคร…ไว้ข้างหลัง รับชมในรูปแบบ Data Journalism ผ่านเว็บไซต์ Interactive ได้แล้วที่ thevisual.thaipbs.or.th/UniversalDesign 

Like This? Share It!