loader image

ความหวัง “คนไร้บ้าน” มีบ้านอีกครั้ง เพราะ “จ้างวานข้า”

บ้านเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่คนควรมี แต่โอกาสเข้าถึงบ้านของทุกคนไม่เท่ากัน และไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะ คนไร้บ้าน” (homeless) ซึ่งเป็นคนที่ไร้ที่อยู่ ร่อนเร่พเนจร อนาถา เห็นได้ตามพื้นที่สาธารณะ จะด้วยเหตุผลความยากจน ปัญหาครอบครัว แต่ลึก ๆ แล้วพวกเขาอาจไม่ได้อยากมีชีวิตอย่างนั้น

ที่ผ่านมาภาครัฐ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามแก้ปัญหาคนไร้บ้าน หรือคำในกฎหมายเรียกอีกชื่อว่า “คนไร้ที่พึ่ง” กับการพยายามเชิญชวนคนเหล่านี้ ให้เข้าไปรับบริการกินอยู่ฟรี ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งของกระทรวง พม. ภายในมีการฝึกทักษะอาชีพให้มีทักษะอาชีพติดตัว นำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ เพื่อจะได้มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักเป็นแหล่ง

ทำสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ปัจจุบันก็ยังพบคนไร้บ้านอยู่ในพื้นที่สาธารณะหลายแห่ง ?

ล่าสุดกระทรวง พม. ยังมีนโยบายช่วยออกค่าเช่าคนละครึ่งให้คนไร้บ้าน พร้อมพัฒนาทักษะอาชีพ และหางานให้ เพื่อมีรายได้มาเช่าที่พักร่วมกัน เงื่อนไขคือ

  • ต้องไม่มีที่อยู่อาศัย
  • ต้องไม่มีงานทำ
  • ต้องเช่าที่พักอาศัยราคาถูก

ดำเนินการไปแล้วประมาณ 1 ปี มีผู้เข้าร่วมโครงการไม่ถึง 100 คน

ไทยพีบีเอส โดยรายการอนาคตประเทศไทย สัมภาษณ์พิเศษ “สิทธิพล ชูประจง” หัวหน้าโครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งทำงานใกล้ชิดคนไร้บ้าน กับความพยายามให้คนไร้บ้านได้มีที่อยู่อาศัยอีกครั้ง ผ่านการ “จ้างวานข้า”

ทำไมภาครัฐถึง แก้ปัญหา “คนไร้บ้าน” ไม่สำเร็จ ?

สิทธิพล ฉายภาพการแก้ปัญหาของรัฐ มีความพยายาม แต่อาจต้องใส่ใจในรายละเอียดให้มากกว่านี้ อย่างนโยบายช่วยออกค่าเช่าบ้านคนละครึ่ง ต้องเข้าใจปัญหาหลักของคนไร้บ้าน มาจากการมีรายได้ที่ไม่มั่นคง เขาจะหาเงินจากไหนมาเช่า

“แม้นโยบายจะบอกว่าช่วยค่าเช่าคนละครึ่ง พร้อมจัดหางานให้ ก็ไม่ง่าย เพราะคนไร้บ้านส่วนหนึ่งมีความเป็นผู้สูงอายุ ไม่มีทักษะแรงงาน หรือมีทักษะแรงงานต่ำ จึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีของตลาดแรงงาน ฉะนั้นไม่ง่ายในการเอาคนไร้บ้าน ไปบรรจุในระบบการจ้างงานปกติ”

เขา แนะนำหากจะหางานให้คนไร้บ้าน ต้องเป็นงานที่เหมาะกับพวกเขา

โครงการ “จ้างวานข้า” ช่วยคนไร้บ้าน อย่างไร ?

สิทธิพล ยกตัวอย่างโครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา ที่จะออกแบบงานให้เหมาะสมกับบริบทกลุ่มคน ดูว่าคนกลุ่มนี้สามารถทำงานแบบไหนได้ ทำแล้วต้องเกิดผลิตภาพของงานนั้นขึ้นจริง

“จ้างวานข้า เป็นงานที่ไม่ได้ใช้สกิลนัก เช่น คัดแยกของในระบบรีไซเคิล งานทำความสะอาด ซึ่งไม่ใช้สกิลและแรงที่สูงนัก เหมาะสมกับบริบทคนไร้บ้าน”

ส่วนจะทำอย่างไรให้คนไร้บ้านรู้ว่ามีงานรองรับอยู่นั้น สิทธิพล บอกว่า ต้องทำอะไรที่เป็นศูนย์กลาง อย่างจ้างวานข้าใช้วิธีบอกกลุ่มคนไร้บ้าน พอเข้ามาแล้วชีวิตแต่ละคนดีขึ้น เขาก็บอกเพื่อนต่อ ซึ่งคนไร้บ้านเขารับข่าวสารด้วยการต้องไปเจอเขาในที่ที่เขาอยู่ คือลงไปในพื้นที่เลย การประกาศในโซเชียลมีเดีย หรือโทรศัพท์ยาก

ภาครัฐต้อง ไม่สอนอาชีพ ให้คนไร้บ้านแล้วจบไป ?

สิทธิพล มองการดำเนินงานของรัฐยังมีปัญหา แม้มีมุมมองเดียวกันว่าต้องสร้างทักษะอาชีพให้คนไร้บ้าน ให้สามารถทำงานมีรายได้ และพึ่งพาตัวเองได้ แต่สิ่งที่ภาครัฐทำ เช่น ไปฝึกทำพรมเช็ดเท้า ทำเครื่องจักสาน ประเด็นคือ ใครจะซื้อหลังจากนั้น คิดว่าในเชิงรายละเอียด พอรัฐออกแบบมาแล้ว มันไม่สามารถทำได้จริง ไม่ตรงกับการทำให้คุณภาพชีวิตดี

“อย่างสอนคนไร้บ้านตัดผม ก็ต้องถามว่าจะมีสักกี่ร้านตัดผม ที่รับช่างตัดผมเพิ่ม พัฒนาฝีมือแล้วอย่างไรต่อ ก็คิดว่าต้องดูทั้งกระบวนการ ว่าพอมีทักษะอาชีพเพิ่มแล้ว พวกเขาจะไปลงจุดไหน รัฐต้องไปดูต่อ”

นโยบายขึ้นค่าแรง ช่วยเพิ่มโอกาสคนไทยมีบ้าน หรือไม่ ?

สิทธิพล ตอบทันทีเลยว่า “ไม่เลย”

ก่อนยกตัวอย่างอดีตคนไร้บ้านในจ้างวานข้า ที่ให้ค่าแรง 500 บาทต่อคนต่อวัน ทำงาน 6 ชั่วโมง รายได้รวม 10,000 บาทต่อคนต่อเดือน ก็พบว่ามีเงินใช้แบบจำกัดจำเขี่ย ฉะนั้นนโยบายเพิ่มค่าแรง 400 บาทต่อวัน อาจไม่คุณภาพชีวิตที่ดี ยังอยู่ในห้องเช่าราคาถูก ห้องเช่าที่ไม่ได้คุณภาพ กินอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

“รายได้ 400-500 บาท ทำให้คนมีโอกาสเข้าถึงห้องเช่าราคาถูกได้ แต่อาจอยู่อย่างไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แต่การเข้าถึงโอกาสทำงานที่มีรายได้ 400-500 บาทต่อวัน ของคนไร้บ้านยากกว่า เพราะคนไร้บ้านพยายามหางาน หารายได้ให้ตนเอง แต่รายได้น้อยมาก เช่น ไปรับจ้าง เขาก็ให้ทำงานไม่กี่ชั่วโมง ให้ชั่วโมงละ 100-200 บาท แต่ 1 สัปดาห์มีงานแค่ 2 วัน มันไม่มีความต่อเนื่อง ทำให้ไม่มีเงินไปเช่าห้อง เช่าบ้านได้ คนไร้บ้านส่วนใหญ่อยู่ในสถานการณ์อย่างนี้”

สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา

แก้ปัญหา "บ้าน" ให้คนไร้บ้าน ด้วยวิธีใด ?

สุทธิพล มองโฟกัสเรื่องการสร้างรายได้ จะเป็นทางออกของปัญหาคนไร้บ้าน  

“ต้องทำให้คนไร้บ้านมีงานที่มั่นคง มีรายได้ที่มั่นคง ผมเสนอว่าอย่างพวกเขาทำงาน 5 วัน มีรายได้วันละ 400 บาท จากนายจ้าง อีกครึ่งก็ควรเป็นเงินสมทบจากสวัสดิการของรัฐมาช่วย เพื่อจะทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตไปได้ แม้จะพอมีชีวิตถู ๆ ไถ ๆ แต่เขาจะมีชีวิตอยู่ได้”

เขาบอกว่า ที่ผ่านมาโครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา ร่วมกับ กทม. ออกแบบการจ้างงานและที่อยู่อาศัยให้คนไร้บ้านไปบ้างแล้ว ส่วนกระทรวง พม. ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องนี้

“คนไร้บ้านอยู่จุดต่ำสุดของคนไม่มีที่อยู่อาศัย หากคนไร้บ้านมีที่อยู่อาศัยได้ คนกลุ่มอื่นจะเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ ถามว่าผมมีความหวังกับรัฐบาลนี้หรือไม่ ยอมรับว่ายังไม่เห็นความชัดเจนนโยบายที่จะนำไปสู่การตอบโจทย์แหล่งรายได้ให้กับคน และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตเลย”

แล้ว “คนรุ่นใหม่” มีโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัย มากน้อยแค่ไหน ?

สุทธิพล มองว่า ก็มี แต่คิดว่าพวกเขามีความฝัน ทุกคนประเมินตัวเองเป็น แม้จะฝัน แต่ก็ประเมินศักยภาพตัวเอง และไม่รีบเร่ง

“อาจมองว่าต้องมานั่งผ่อนทั้งชีวิต 30 ปีอย่างนี้ มันน่าเศร้า ถ้าเราบอกว่าบ้านคือปัจจัย 4 แต่ปัจจัย 4 ที่ใช้เวลา 20 กว่าปี กว่าจะเป็นเจ้าของ”

“โอกาสที่คนรุ่นใหม่จะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง มันยากขึ้น เขาอาจเลือกบ้านอยู่ในทำเลที่เหมาะสม ต่อการใช้ชีวิต แต่อาจต้องเลือกที่ไกลโพ้น แม้แต่การเดินทาง ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ไกลขึ้น ๆ”

สุดท้ายนี้ สุทธิพล มองว่าไม่เพียงบทบาทภาครัฐที่จะขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ภาคเอกชนก็ต้องมาร่วมกัน ที่ผ่านมาพบความพยายามว่าภาคเอกชนอยากช่วย แต่ไม่มีช่องที่จะเชื่อมการทำงาน กระทั่งภาคเอ็นจีโอเปิดช่อง พบว่าภาคเอกชนพยายามเข้ามาเชื่อมต่อ 

ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ตั้งเป้าหมายว่าปี 2579 คนไทยทุกคนต้องมีบ้าน ! นับถอยหลัง 13 ปี แห่งความท้าทาย

รับชม : The Visual Home & Hope การเข้าถึง “บ้าน” ในเมือง ความหวัง ความจริง บนหลักไมล์ พ.ศ. 2579 ในรูปแบบ Data Visualization ได้ที่  https://thevisual.thaipbs.or.th/HomeAndHope

Facebook
X (Twitter)

Like This? Share It!