loader image

เปิดโผ 30 ประเทศทั่วโลก รองรับเพศเดียวกันแต่งงานถูกกฎหมาย

จากกรณีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ที่ศาลรัฐธรรมูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยต่อการยื่นฟ้องของคุณพวงเพชร เหมคำ และคุณเพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง ที่ทั้งคู่ดำเนินการหลังถูกปฏิเสธการจดทะเบียนสมรส เนื่องจากทั้งสองมีเพศตามทะเบียนราษฎร์เป็นหญิง โดยเนื้อหาที่ยื่นฟ้องคือการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 ที่บัญญัติว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้” นั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 4, 5, 25, 26 และมาตรา 27 หรือไม่ ซึ่งมาตราดังกล่าวได้วางหลักการครอบคลุมถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ และความเสมอภาคของบุคคล โดยการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเหตุผลเรื่อง เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ หรือเหตุอื่น ๆ จะไม่สามารถกระทำได้ 

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 ไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมีข้อสังเกตให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป

เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า นับเป็นอีกครั้งที่ประเทศไทยยังไม่สามารถก้าวเข้าใกล้คำว่า “สมรสเท่าเทียม” ได้อย่างแท้จริง ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งถูกเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อกลางปี 2563 ที่มีใจความแก้ไขหลักกฎหมายสำคัญหลายส่วน เช่น เปลี่ยนผู้มีสิทธิ์หมั้นและสมรสจาก “ชาย และ หญิง” เป็น “บุคคลทั้งสองฝ่าย” หรือ เปลี่ยนการเข้าถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของรัฐจาก “ได้ตามที่กฎหมายกำหนดให้ สามี-ภรรยา” เป็น “ได้ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ คู่สมรส” และรายละเอียดอื่น ๆ แต่จนถึงวันนี้ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขดังกล่าว ก็ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณา

 ถึงกระนั้น แม้ประเทศไทยจะยังไม่สามารถก้าวผ่านกรอบที่จำกัดการแต่งงานให้เป็นแค่เรื่องของ “ชาย” และ “หญิง” ได้ แต่ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา 30 ประเทศทั่วโลก ได้ข้ามพ้นข้อถกเถียงเหล่านี้ และพร้อมที่จะให้คุณค่าแก่ความรักของทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยการผ่านร่างกฎหมายให้คู่รักทุกเพศสามารถแต่งงานได้อย่างเสมอภาคกัน 

….โดยจะมีประเทศอะไรบ้างนั้น ไปชมกันเลย….

  • เนเธอร์แลนด์ : ในปี ค.ศ. 2000 เนเธอร์แลนด์กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่ผ่านร่างกฎหมายให้คู่สมรสเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ โดยในปี ค.ศ. 2001 คู่รักเพศเดียวกัน 4 คู่ ได้กลายเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศกลุ่มแรกของโลก ที่ได้แต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 
(Photo by MARCEL ANTONISSE / AFP)
  • เบลเยียม : หลังประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันเมื่อปี ค.ศ. 2003 รัฐสภาเบลเยียม ก็ได้ประกาศอนุญาตให้คู่สมรสเพศเดียวกัน สามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในปี ค.ศ. 2006
  • แคนาดา : ปี ค.ศ. 2005 รัฐสภาแคนาดาได้ปรับเปลี่ยนกฎหมาย ว่าด้วยเรื่องการสมรสของพลเมือง โดยได้เพิ่มการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันเข้าไปด้วย 
  • สเปน : รัฐบาลสเปนบัญญัติกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี ค.ศ. 2005 โดยให้สิทธิทั้งการแต่งงานและการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 
  • แอฟริกาใต้ : ปี ค.ศ. 2006 รัฐสภาแอฟริกาใต้ได้ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ด้วยคะแนนเสียงสัดส่วน 5 ต่อ 1 ของสภา โดยได้รับการสนับสนุนส่วนใหญ่มาจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 
  • นอร์เวย์ : หลังประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมในปี ค.ศ. 2008 หนึ่งปีต่อมา โบสท์นิกาย Lutheran ทั่วประเทศก็ได้โหวตให้บาทหลวงในนิกาย สามารถดำเนินพิธีแต่งงานให้คู่รักเพศเดียวกันได้ 
  • สวีเดน : ประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี ค.ศ. 2009 โดยก่อนหน้านั้น 1 เดือน สภาโบสถ์ของประเทศก็ได้มีการยื่นเรื่องให้การแต่งงานของคู่รัก LGBTIQN ถูกกฎหมาย
  • อาร์เจนตินา : ในปี ค.ศ. 2010 อาร์เจนตินากลายเป็นประเทศแรกในแถบละตินอเมริกา ที่บัญญัติให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานได้อย่างถูกกฎหมาย
(Photo by DANIEL GARCIA / AFP)
  • โปรตุเกส : หลังประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันเมื่อปี ค.ศ. 2010 รัฐสภาโปรตุเกส ก็ได้ประกาศอนุญาตให้คู่สมรสเพศเดียวกัน สามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ในปี ค.ศ. 2016
  • ไอซ์แลนด์ : ปี ค.ศ. 2010 รัฐสภาไอซ์แลนด์โหวตผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 
  • เดนมาร์ก : ก่อนจะประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี ค.ศ. 2012 เดนมาร์กนับเป็นประเทศแรกที่รับรองสถานภาพคู่รัก LGBTIQN ในฐานะ Domestic Partners หรือการอยู่กินด้วยกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยยังไม่ใช่สถานะสมรส 
  • อุรุกวัย : หลังประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี ค.ศ. 2013 กฎหมายดังกล่าวก็ได้เริ่มดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายพันคนต่อปีเข้ามาในประเทศ 
  • บราซิล : มีคู่รักจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกว่า 3,700 คู่ แต่งงานกันในปี ค.ศ. 2013 หลังรัฐบาลประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกัน 
  • นิวซีแลนด์ : ร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ได้รับการอนุมัติจากสภาในปี ค.ศ. 2013 ด้วยคะแนนเสียง 77 ต่อ 44 
  • สหราชอาณาจักร (อังกฤษและเวลส์) : หลังผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี ค.ศ. 2013 อดีตรองประธานาธิบดี Nick Clegg ได้ออกแถลงการณ์ว่า “ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ไม่ว่าคุณจะรักใคร พวกเราทุกคนเท่าเทียมกัน” 
  • ฝรั่งเศส : ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี 2013 
  • ลักเซมเบิร์ก : รัฐสภาลักเซมเบิร์ก ประกาศให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานได้อย่างถูกกฎหมายในปี 2014 นับเป็นการปฏิรูปกฎหมายแต่งงานครั้งแรกของประเทศนับตั้งแต่ปี 1804 
  • สหราชอาณาจักร (สกอตแลนด์) : สกอตแลนด์ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี ค.ศ. 2014 โดยหลังจากนั้น 3 ปี Episcopal หรือ นิกายศาสนาคริสต์ประจำสกอตแลนด์ ก็ได้กลายเป็นนิกายแรกในสหราชอาณาจักร ที่สามารถจัดพิธีแต่งงานให้คู่รักเพศเดียวกันได้
  • สหรัฐอเมริกา : สหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี ค.ศ. 2015 ดันให้แฮชแท็ก #LoveWins ขึ้นอันดับ 1 ในเทรนด์ Twitter ทั่วโลกทันที
(Photo by JEWEL SAMAD / AFP)
  • ไอร์แลนด์ : ไอร์แลนด์กลายเป็นประเทศแรกของโลก ที่ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันด้วยการลงประชามติของประชาชนทั่วประเทศเมื่อปี ค.ศ. 2015
  • ฟินแลนด์ : กฎหมายสมรสเพศเดียวกันของฟินแลนด์ซึ่งประกาศใช้ในปี ค.ศ. 2015 ริเริ่มจากการเสนอร่างกฎหมายโดยประชาชน โดยมีผู้ลงชื่อเสนอร่างกฎหมายกว่า 167,000 คน 
  • กรีนแลนด์ : ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี ค.ศ. 2015
  • โคลอมเบีย : โคลอมเบียผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในปี ค.ศ. 2016 ด้วยเสียงโหวตในสภาสัดส่วน 6 ต่อ 3 
  • มอลตา : ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี ค.ศ. 2017 ด้วยเสียงโหวตในสภาเกือบจะเป็นเอกฉันท์ โดยมีเสียงคัดค้านจากทางฝั่งศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก 
  • ออสเตรเลีย :  ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี ค.ศ. 2017
  • เยอรมนี : ร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากประชาชน ก่อนรัฐสภาจะผ่านร่างกฎหมายนี้ด้วยคะแนนเสียง 393 ต่อ 226 ในปี ค.ศ. 2017
  • ออสเตรีย : ในปี ค.ศ. 2010 ออสเตรียอนุญาตให้คู่รัก Gay และ Lesbian สามารถจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตหรือ Civil Partnership ได้ก่อนที่ในปี ค.ศ. 2019 จะประกาศกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันมีสถานภาพสมรสได้ 
  • ไต้หวัน : ในปี ค.ศ. 2019 ไต้หวันกลายเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชีย ที่ประกาศใช้กฎหมายให้คู่รัก Gay และ Lesbian สามารถแต่งงานได้อย่างถูกกฎหมาย 
(Photo by Sam YEH / AFP)
  • สหราชอาณาจักร (ไอร์แลนด์เหนือ) : รัฐสภาสหราชอาณาจักร ได้เสนอร่างกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันในไอร์แลนด์เหนือเมื่อปี ค.ศ. 2019 ก่อนจะถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งไอร์แลนด์เหนือนับเป็นประเทศสุดท้ายในเครือสหราชอาณาจักรที่ผ่านร่างกฎหมายนี้ และทำให้การแต่งงานของคู่รัก LGBTIQN ถูกกฎหมายทั่วทั้งสหราชอาณาจักร 
  • คอสตาริกา : คอสตาริกาผ่านกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี 2020 ซึ่งทำให้กลายเป็นประเทศแรกในแถบอเมริกากลางที่คู่รัก LGBTIQN แต่งงานได้อย่างถูกกฎหมาย 
  • สวิตเซอร์แลนด์ : ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ประกาศลงประชามติผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันเมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา โดยผลการลงคะแนน ประชาชน 2 ใน 3 ที่มาใช้สิทธิ์ได้โหวตรับร่างกฎหมายดังกล่าว ทำให้สวิตเซอร์แลนด์กลายเป็นประเทศลำดับที่ 30 ของโลกที่คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 2022 เป็นต้นไป 

 

อย่างไรก็ตามนอกเหนือจาก 30 ประเทศที่กล่าวมานี้ ยังมีอีกกว่า 160 ประเทศทั่วโลก ที่การสมรสของคู่รักเพศเดียวกันยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ชี้ให้เห็นว่าขบวนการขับเคลื่อนเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ยังคงเป็นการต่อสู้บนเส้นอีกยาวไกล แต่ปรากฏการณ์การเรียกร้อง #สมรสเท่าเทียม ที่เกิดขึ้นในรอบ 20 ปีที่ผ่านมานี้ ก็นับเป็นสัญญาณอันดีที่สะท้อนให้เห็นว่า กระแสการยอมรับ LGBTIQ กำลังเบ่งบานในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก


อ้างอิง 

Like This? Share It!