loader image

ทำอย่างไรให้คนไทยมีบ้าน เพราะบ้าน… ของมันต้องมี

ทำอย่างไรให้คนไทยมีบ้าน เพราะบ้าน... ของมันต้องมี

“บ้าน” เป็น 1 ในปัจจัย 4 ของการดำรงชีวิต การมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลัง ไม่ได้ขึ้นกับแค่ภาวะเศรษฐกิจ แต่ยังยึดโยงกับ “นโยบายรัฐ”

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) จึงจัดเสวนา “The Visual Talk : Home & Hope คนไทยต้องมีบ้าน” เพื่อรับฟังแนวคิดและมุมมองจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม  ที่ห้องคอนเวนชันฮอลล์ 2 อาคาร D ไทยพีบีเอส วันที่ 30 ตุลาคม 2566

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “สิ่งที่หวังจะสร้างฝัน การมีบ้านของคนไทย” ว่า ปัญหาที่อยู่อาศัย เป็นปัญหามาช้านาน การเข้าถึงที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง และปลอดภัย เพราะบ้านเป็น 1 ในปัจจัย 4 แต่ปัญหาการไม่มีบ้านอยู่อาศัย ส่วนใหญ่เกิดในเมืองใหญ่ และเป็นปัญหาที่คนรุ่นใหม่ ไม่สามารถมีอาชีพที่มีรายได้พอชำระค่าที่อยู่อาศัย ทำให้คนบางกลุ่มไร้ที่อยู่

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม.

“ภูมิศาสตร์ทำให้คนส่วนใหญ่มากระจุกตัวตามเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ทำให้คนเข้ามาอยู่ในพื้นที่แออัดไม่ได้มาตรฐาน ตามตัวเลขกว่า 5 ล้านคน ไม่มีที่อยู่ เป็นคนมีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบาง อพยพเข้ามาเป็นคนไร้บ้าน ส่วนใหญ่จะมีอายุมากคือ 51-60 ปี” นายวราวุธกล่าว

นายวราวุธ กล่าวว่า วันนี้เมืองไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แบบ การมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น คนเกิดใหม่เกิดใหม่น้อยลง ทำให้มีการพึ่งพิงประชากรวัยทำงานหรือเจเนอเรชั่นเดอะแบก 15 -60 ปี ต้องดูแล ทำให้มีความท้าท้ายด้านกำลังซื้อจะมีจำกัดมากขึ้น คนทำงานน้อยลง แต่คนที่ต้องการการดูแลมีเพิ่มมากขึ้น ในกรุงเทพมหานครหรือเมืองใหญ่วันนี้ราคาอสังหาริมทรัพย์แพงมาก แล้วใครจะมีปัญญาซื้อ คนรุ่นใหม่จบออกมาปริญญาตรี เงินเดือน 15,000 บาท จะเอาปัญญาที่ไหนไปซื้อ

การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด มีต่างชาติเข้ามาซื้อมาก แต่คนไทยไม่มีกำลังซื้อ ทำให้คนเปลี่ยนมาเช่าที่อยู่อาศัยแทน คนเช่าบ้านมากกว่าคนซื้อบ้าน เพราะเหมาะสมกับคนที่มีรายได้น้อย สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นความเหลื่อมล้ำที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

รมว.พม. กล่าวย้ำว่า ความมั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัย เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญและเป็นภารกิจที่สำคัญของกระทรวง พม. ตามแผนแม่บทภายในปี 2579 คนไทยจะต้องมีที่อยู่อาศัย มีสภาพความเป็นอยู่ทีดี ชุมชนน่าอยู่ปลอดภัย สามารถแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด การทำให้ประเทศดำเนินการแผนทั้งหมดนี้เป็น ภารกิจสำคัญของกระทรวง พม.

“ผมเข้ามาทำงานในกระทรวงนี้ ได้พูดถึงการสร้างโอกาสให้กับคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสถานะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำลง สามารถเป็นบ้านที่มีกำลังซื้อ ให้คนสามารถซื้อได้และขนาดนี้ผมกำลังหารือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ว่าจะเริ่มโครงการนี้ได้เร็วที่สุดเมื่อใด”

โครงการบ้านเดี่ยว ของการเคหะแห่งชาติ
โครงการบ้านริมคลอง ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า สำคัญที่สุดเมื่อคนไทยมีบ้านที่บอกว่าของมันต้องมี บางอย่างไม่ต้องมีบ้างก็ได้ บางท่านได้บ้านไปแล้ว มีที่อยู่แล้ว ขอความกรุณาอย่าเอาไปจำนอง เอาเงินออกมาไปใช้หนี้ เพราะบ้านเป็นสิ่งสำคัญในปัจจัย 4 เมื่อมีบ้านแล้วต้องรักษาไว้ให้ดี กระทรวง พม. มีภารกิจที่สำคัญต้องดูแลพี่น้องประชาชนทุกคน เราทำงานคนเดียวไม่ได้ต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน ผมมั่นใจว่าคนไทยเมื่อทำอะไรด้วยกันแล้ว ไม่มีอะไรที่จะทำไม่ได้

ถาม : บ้านของเฟิร์สจ๊อบเปอร์ คิดว่าจะสามารถทำได้เมื่อไหร่ ?

นายวราวุธ ตอบว่า กำลังเร่งทำงานร่วมกับสำนักงบประมาณ อยากจะผลักดันให้เกิดขึ้นภายในปี 2567 เพราะปริมาณคนจบใหม่ต้องการบ้านที่อยู่อาศัย ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้รู้สึกเหมือนเป็นคฤหาสน์ของตัวเอง สร้างความมั่นคงทางจิตใจให้ด้วย

“ประเทศไทยมีพื้นที่จำกัด แต่ประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี ถ้าทุกคนมีบ้านในที่ของตัวเองอีก 40-50 ปีถามว่าคนไทยจะอยู่ตรงไหน เพราะโดนซื้อไปหมดแล้ว”

“บางคนมีบ้านก็ไปจำนอง เสร็จนายทุนหมด บางครั้งก็เห็นใจนายทุน เพราะนายทุนก็นั่งอยู่เฉย ๆ แต่มีประชาชนเอาที่ดินไปจำนอง ฉะนั้นบ้านในอนาคตอาจเป็นลิสต์โฮม ไม่ใช่ฟรีโฮม” นายวราวุธกล่าว

ถาม : กองทุนเงินออมเพื่อที่อยู่อาศัย ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ?

นายวราวุธ กล่าวว่า เป็นความคิดที่ดี คนไทยมีอัตราการออมต่ำมาก เราอยากให้มีกองทุนเงินออม เพื่อที่พักอาศัยจะเป็นประโยชน์มาก ต้องขอบคุณที่มีความคิดนี้ และไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ เดี๋ยวผมจะไปพูดกับผู้ใหญ่หลายคน ว่าเราทำกันดีไหม

ไม่มีใครปล่อยกู้ ให้คนจนซื้อบ้าน

นายสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการ “จ้างวานข้า” มูลนิธิกระจกเงา กล่าวในประเด็น “โอกาสของผู้มีรายได้น้อยกับการมีบ้าน” ว่า เราต้องการให้คนไร้บ้าน มีพื้นที่ในการทำงานและสร้างรายได้ในตัวพวกเขา และนำไปสู่ปรับปรุงคุณภาพชีวิต เปลี่ยนผ่านจากคนไร้บ้านเป็นคนมีบ้านได้ อันนี้เป็นโครงการจ้างวานข้า

นายสิทธิพล กล่าวอีกว่า จะพาไปดูที่อยู่อาศัยที่เราไม่เคยเห็น คนจนรายได้น้อยมาก เส้นแบ่งความยากจนต่ำกว่า 3,000บาท กลุ่มคน 2 กลุ่มหลักที่เราจะคุย คือกลุ่มคนไร้บ้าน และคนจนเมือง

ถ้าจะให้อธิบายกลุ่มคนไร้บ้าน คือกลุ่มคนที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ต้นทุนต่ำ ไม่สามารถมีที่พักอาศัยได้

ส่วนคนจนเมือง แม้มีบ้าน แต่ที่อยู่อาศัยมีลักษณะที่ที่เรียกว่าที่อยู่อาศัยได้หรือไม่ เช่น มีประตูเข้าอย่างเดียว ต้องยัดตัวเข้าไป ห้องเช่า 600 บาท ตนเรียกว่าเป็นการเช่าในห้องเช่า ตัดแบ่งเพื่อปล่อยเช่าราคาที่ได้เพิ่มมากขึ้น

“โอกาสของการมีบ้านสำหรับกลุ่มคนจนที่เราทำงานด้วยเท่ากับศูนย์ เพราะรายได้ต่ำ ใช้จ่ายวันต่อวัน ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเครดิตกู้เงิน แม้แต่เงินนอกระบบยังไม่ปล่อยกู้ให้ซื้อบ้าน บ้านการเคหะฯ ก็เข้าไม่ถึง ฉะนั้นรัฐต้องมาดูว่าจะให้เข้าถึงบ้านที่มีคุณภาพได้อย่างไร” นายประสิทธิพลกล่าว

นายสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการ “จ้างวานข้า” มูลนิธิกระจกเงา

คนรุ่นใหม่จะมีบ้านสักหลัง เป็นเรื่องยาก ?

นายชัชวาลย์ วัฒนะโชติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ กล่าวในหัวข้อ อ่านแนวคิดคนรุ่นใหม่กับการซื้อบ้าน ว่า คนรุ่นใหม่จะมีบ้านสักหลังมีเงินออมเป็นเรื่องที่ยากมาก

นอกจากซื้อของที่แพงขึ้นจากอดีต เรื่องการยั่วยุให้ใช้เงินมีมากกว่าอดีต ไม่แปลกใจว่าทำไมคนรุ่นใหม่อยู่ยากขึ้น ประเทศไทยของเราจีดีพีเติบโตปีละ 10% ราคาบ้านเติบโตน้อยกว่าจีดีพี หมายความว่าคนโดยรวมรวยขึ้น

“คนรุ่นใหม่มีรายได้ลดน้อยลง เมื่อเทียบกับราคาบ้าน ทำให้เป็นเจ้าของบ้านได้ยากเย็น” ชัชวาลย์กล่าว

นายชัชวาลย์ กล่าวว่า บ้านจำเป็นแค่ไหนทำไมคนเราต้องมีบ้าน พอพูดถึงบ้าน จะนึกถึงครอบครัว เมื่อเริ่มสร้างครอบครัวจะเริ่มสร้างบ้าน นั่นคือความมั่นคงของครอบครัว

บ้านคือความมั่นคงของครอบครัว ถ้าสั่นคลอนแล้ว ครอบครัวจะเข้มแข็งได้อย่างไร จะทำงานให้ดีได้อย่างไรหรือจะช่วยเหลือสังคมได้อย่างไรถ้าบ้านที่เป็นพื้นฐานยังไม่ดี ประเทศที่พัฒนาแล้วเห็นความสำคัญด้านนี้มาก เช่น สิงคโปร์ แม้ว่าจะขยายครอบครัว ก็ยังจะมีบ้านได้อีก

นายชัชวาลย์ กล่าวอีกว่า หากวันนี้เราอยากทำนโยบาย มีอะไรที่เป็นไปได้บ้างที่ไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐ อย่างแรกเรื่องของ “เครดิต” เรื่องความมั่นคงของเรา การซื้ออสังหาริมทรัพย์นั้น ไม่มีเงินก็ซื้อได้ ขออย่างเดียวมีเครดิต แต่ปัจจุบันของเรามีแค่การกู้เงิน การจ่ายบัตรเครดิต แต่เครดิตจริง ๆ มีหลายมิติมาก เช่น สหรัฐอเมริกา มีระบบเครดิตสกอร์ที่รวมถึงเงินออมด้วย เพราะการออมสะท้อนถึงวินัย

นอกจากนี้ มีเรื่องจ่ายภาษีครบถ้วนจะเป็นเครดิต จะทำให้ทำประกันได้ถูกลง จะได้รับเลือกให้เช่าบ้านก่อนคนเครดิตไม่ดี

“ในวงการอสังหาฯ พูดกันว่า ไม่มีเงินไม่เป็นไรแต่ห้ามเสียเครดิต การที่จะให้ประชากรไทยตั้งหลักได้ ตั้งตัวได้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หาอาชีพ หางาน มีบ้านให้กลับมาเติมพลัง ไม่มีใครอยากจนหรือพึ่งเงินรัฐ จะลดต้นทุนในการจ่ายช่วยเหลืออีกมากมายมหาศาล ตนคิดว่าวันนี้ถึงแล้วที่เราจะมาเริ่มต้นตั้งตัวกับคนรุ่นใหม่ให้เขามีความหวังและสามารถร่ำรวย” นายชัชวาลย์กล่าว

นายชัชวาลย์ วัฒนะโชติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์

ทุกชีวิตเกิดขึ้นมา มีบ้าน 3 หลัง ?

นายอภิชาติ ประสิทธิ์นฤทธิ์ นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์และพันธมิตร กล่าวในหัวข้อ “ทำอย่างไรให้คนไทยมีบ้าน” ว่า การตั้งคำถามว่า  ทำไมเราต้องมีบ้าน บ้านหลังแรกของเราคือที่ไหน ความหมายคืออะไร ขออธิบายว่า ทุกชีวิตเกิดขึ้นมามีบ้าน 3 หลัง โดยไม่รู้ตัว

บ้านหลังแรกคือ บ้านเรือนใจ คือครรภ์มารดา คือบ้านหลังที่ 1  โตขึ้นมาคือบ้านเรือนกาย คือบ้านหลังที่ 2 และหลังสุดท้ายคือ บ้านที่เราพักอาศัย ถ้าเริ่มต้นที่ไม่มีบ้าน ใช้ชีวิตไม่อบอุ่น ไม่ปลอดภัย การที่จะมีความคิด มีปัญญา การเข้าสู่การเติบโตจึงเป็นไปได้ยาก

ฉะนั้นรัฐจึงต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้คนมีบ้าน การถือครองกรรมสิทธิ์เป็นเรื่องทางโลก เพราะในทางนิตินัย มันจำเป็นต้องมี แต่ไม่หมายความว่าจะเป็นที่นั่นตลอดไป

“สังคมไทยอยู่กันหลายเจนเนอเรชั่น เป็น DNA ที่ดีมาก แต่ด้วยการบีบรัดทางสังคมทำให้เป็นอุปสรรคของครอบครัวใหญ่วันนี้หัวใจสำคัญพบว่ามีความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นในสังคมเมือง แต่โอกาสในการมีพลังในการถือครองกรรมสิทธิ์มีไม่พอ ทำอย่างไรที่รัฐจะเข้าใจความต้องการเหล่านี้ได้”

“การทำให้ประชาชนมีบ้าน ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคน ควรมีบีโอไอเพื่อเอกชนกับรัฐจับมือกันได้ ถ้าเรื่องนี้ถูกขับเคลื่อนเป็นวาระแห่งชาติ ต้องแก้กันเป็นองคาพยพ เพื่อไปสู่อนาคตข้างหน้าร่วมกัน” นายอภิชาติกล่าว

นายอภิชาติ ประสิทธิ์นฤทธิ์ นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์และพันธมิตร

ไม่พร้อม แต่ต้องหาทางกู้ เพื่อมีบ้าน

นายธฤต ศรีอรุโณทัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทข้อมูลเครเดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า คำว่า “ของมันต้องมี” เป็นศัพท์ที่เกิดขึ้นมาตั้งนาน บางครั้งเมื่อเราไม่พร้อม แต่ต้องไปหาทางกู้เพื่อมีบ้าน แต่เราไม่เคยประเมินความพร้อมว่าเราสามารถผ่อนไปถึงปลายทางได้แค่ไหน

หนี้สินโดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลโดยตัวเลขที่ผ่านมาค่อนข้างสูงมากและแนวโน้มชำระหนี้คืนยาก จากการที่คนไทยยังขาดวินัยในการออมเงิน

“คนไทยทุกคนมีบ้านได้ แต่ต้องเริ่มต้นที่ตัวเราในการออม เราอดที่จะซื้อของที่จำเป็นเริ่มเก็บเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน” นายธฤตกล่าว

นายธฤต กล่าวอีกว่า ดังนั้นการที่จะมีบ้านได้ เราต้องกลับมาเริ่มต้นที่ตัวเอง คือ สร้างวินัยในการออม อาจเก็บจาก 10 – 20% ของรายได้

นายธฤต ศรีอรุโณทัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทข้อมูลเครเดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)

1.2 ล้านครัวเรือน ไม่มีเงินออมและมีรายได้ต่ำ !

นายนณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า จากผลการวิจัยพฤติกรรมครัวเรือนไทยทางด้านการออม สามารถแบ่งกลุ่มประชากรออกเป็นกลุ่มดังนี้

1.กลุ่มที่ดูแลตัวเองได้ มีเงินออมสามารถมีบ้านได้ 15 ล้านครัวเรือน 

2.กลุ่มมีรายจ่ายที่สูงเกินกว่าความจำเป็น ไม่มีศักยภาพที่จะออมเงินได้ มี 5.7 ล้านครัวเรือน

3.กลุ่มที่ต้องมีบ้านได้หากมีวินัยทางการเงิน มี 4.6ล้านครัวเรือน

4.กลุ่มไม่มีเงินออมและมีรายได้ต่ำ กลุ่มนี้น่าห่วงสุด มี 1.2 ล้านครัวเรือน

นายนณริฎ กล่าวอีกว่า ในทางวิชาการมองว่าโจทย์การมีบ้าน อาจไม่น่ากังวลใจมาก เวลาพูดถึงการมีบ้าน คือเป็นเจ้าของกับเช่า ในส่วนกลุ่มที่รายได้ไม่เพียงพอ กลุ่มตลาดบนเเละคนชั้นกลาง คนร่ำรวย

ขอเปรียบเทียบว่า สังคมสหรัฐอเมริกานััน อายุ 18 ปีจะออกไปใช้ชีวิต อายุ 20 – 30 ปี มีบ้านมีรถเป็นของตัวเอง ย้ายไปแต่งงานแบบสังคมอเมริกัน แต่ไทยมีวัฒนธรรมอยู่กับครอบครัวจึงต่างจากสหรัฐอเมริกา และมีเรื่องสังคมสูงวัยเข้ามา จนอาจเกิดภาวะบ้านล้นได้ เพราะเรามีปัญหาบ้านว่าง เปิดโอกาสบ้านเช่า สังคมเปิดกว้างความหลากหลายทางเพศ เลือกที่ไม่มีลูก บ้านอาจจะกลายเป็นภาวะ มีทรัพย์สินที่ไม่สามารถใช้เงินได้

นายนณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

สำหรับ “The Visual” เป็นหนึ่งบริการเนื้อหาของไทยพีบีเอส เน้นการนำเสนอชุดข้อมูลจำนวนมาก และประเด็นซับซ้อนให้ออกมาเป็นเรื่องเล่า เข้าใจง่าย ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ ออกแบบและบอกเล่าข้อมูล (Data Storytelling) ในรูปแบบ Digital Content พร้อมมัลติมีเดียที่หลากหลายที่ผสมผสานกับเทคโนโลยี ภายใต้สโลแกน “Making Data Visible”

นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนา ด้านวารสารศาสตร์เชิงข้อมูล (Data Journalism) มุ่งผลิตเนื้อหาและประเด็นที่สังคมให้ความสนใจผ่านรูปแบบเว็บไซต์ Interactive ได้แล้วที่ https://thevisual.thaipbs.or.th/HomeAndHope   

Like This? Share It!