loader image

ภาพฝันหลังเกษียณในอุดมคติของคุณเป็นอย่างไร จะมีอยู่มีกิน ลูกหลานห้อมล้อมคอยดูแล หรืออาจเป็นผู้สูงอายุที่อยู่อย่างอัตคัด มีเงินเดือนละไม่กี่ร้อยบาทจากเบี้ยคนชราไว้ใช้ อยู่โดดเดี่ยวเพราะไม่มีลูกหลาน หรือมีแต่ลูกหลานอาจดูแลไม่ไหว

เป็นเรื่องอนาคตที่ไม่อาจรู้ได้ แต่พอจะคาดการณ์ได้ เพราะหนึ่งในหัวใจสำคัญของการจะเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ดีกินดีได้ คือ “สวัสดิการ”

แล้วสวัสดิการของผู้สูงอายุคืออะไร ก็มีตั้งแต่เงินบำนาญข้าราชการ เงินบำนาญประกันสังคม เบี้ยยังชีพคนชรา ตลอดจนสวัสดิการผู้สูงอายุ เช่น ลดราคาค่ารถโดยสาร เป็นต้น

ซึ่งแน่นอนผู้สูงอายุแต่ละคนได้รับสวัสดิการไม่เท่ากัน แล้วสวัสดิการที่ไม่เท่ากันส่งผลอย่างไรกับชีวิต ?

ไทยพีบีเอส ถือโอกาสสัมภาษณ์ 3 ผู้สูงอายุ ที่เป็นข้าราชการบำนาญ อดีตแรงงานที่ได้รับบำนาญประกันสังคม และแรงงานอิสระ ซึ่งทั้ง 3 อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกันคือ ในแฟลตชุมชนบ้านเอื้ออาทรสวนพลูพัฒนา เขตสาทร กรุงเทพฯ แต่ความสุข ความทุกข์กลับต่างกันโดยสิ้นเชิง !

“ข้าราชการบำนาญ” ใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข ?

เริ่มที่ มณฑา สอาดเอี่ยม ข้าราชการบำนาญ เคยเป็นเจ้าพนักงานเภสัช ศูนย์สาธารณสุข กรุงเทพมหานคร เธอมีอาชีพเดียวมาตลอด จนกระทั่งเกษียณ

“ปัจจุบันมีความสุข อยู่สบายดี ไม่ขาดแคลน ไม่เดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะมีเงินบำนาญ”

มณฑามีรายได้ทางเดียวคือ เงินบำนาญ จำนวน 15,000 บาทต่อเดือน เป็นจำนวนเงินที่เธอบอกว่า ก็ใช้หมดทุกเดือน ใช้อย่างมีความสุข

หญิงวัย 76 ปี การันตีชีวิตหลังเกษียณมีความสุข

เธอเล่าด้วยรอยยิ้ม และยอมรับว่าปัจจุบันอาจมีปัญหาสุขภาพบ้าง ที่ทำให้ไม่สามารถกลับมาเดินได้เหมือนเก่า แต่ความเจ็บป่วยตรงนี้ ก็ยังใช้สิทธิข้าราชการบำนาญ เบิกยารักษาโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

มณฑา สอาดเอี่ยม ข้าราชการบำนาญ
“บำนาญประกันสังคม” เงินไม่พอใช้ ?

ถัดมาที่ นางวรรณา ลีลายุทธ บำนาญประกันสังคม เคยเป็นประธานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ชุมชนบ้านเอื้ออาทรสวนพลูพัฒนา เขตสาทร กรุงเทพฯ สังกัดกรุงเทพมหานคร

ด้วยวุฒิการศึกษาไม่สูง เธอจึงได้รับค่าจ้างไม่มาก แม้จะส่งเงินประกันสังคมมาตลอด แต่ก็ได้เงินบำนาญประกันสังคม 2,500 บาทต่อเดือน เมื่อรวมกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้ 600 บาทต่อเดือน ทำให้เธอมีรายได้หลังเกษียณอยู่ที่ประมาณ 3,100 บาท แต่ยังดีว่ามีเงินจากสามีที่ยังทำงาน คอยส่งให้ 7,000 บาทต่อเดือน

ในวัย 67 ปี ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ทางอื่น และสามีเองก็ใกล้เกษียณอีกไม่กี่ปี เธอรู้สึกหนักใจอย่างมาก ค่าภาระและค่าใช้จ่ายที่มาเคาะประตูทุกเดือน ไม่ว่าจะค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ รวม ๆ ประมาณ 7,000 บาทต่อเดือน ไม่รวมค่าอยู่ ค่ากิน จากนี้จะเอาเงินจากไหนมาจ่าย

“ถ้าถามว่าเพียงพอไหม ไม่เพียงพอ”

“ยังดีว่ามีสามีช่วย แต่ถ้าต่อไปเขาไม่ได้ทำงาน เพราะอายุเยอะแล้ว ดิฉันคิดว่าอาจต้องไปอยู่ต่างจังหวัด ไปหาปลูกผักอะไรอย่างนั้น มีที่ทางอยู่ ซื้อไว้นานแล้ว ที่ยังไม่ไปเพราะคิดว่าจะทำอะไรไหวอยู่ สามียังทำงานอยู่ แต่หากได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบ้าง จากอะไรบ้าง แล้วเราอยู่ได้ ก็อาจจะอยู่ที่นี่”

วรรณาอยากกลับไปทำงาน มีรายได้ เธอมองอาชีพเย็บผ้า ที่เคยทำสมัยสาว ๆ ไว้ แต่ก็ยอมรับว่าตัวเองเริ่มมีปัญหาทางสายตา ไม่รู้จะทำได้หรือไม่

อีกทั้ง เธอยังมีโรคประจำตัวอีกมากมาย ปัจจุบันใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยู่ เบิกยารักษาโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง หัวใจโต ฯลฯ แต่มีข้อจำกัดว่ายานอกบัญชีต้องจ่ายเอง

ต่างจากที่เคยใช้สิทธิประกันสังคมเบิกยารักษาโรคประจำตัว จะครอบคลุมกว่า วรรณาบอกว่า แทบไม่ต้องจ่ายค่ายานอกบัญชีเลย

นางวรรณา ลีลายุทธ บำนาญประกันสังคม

"แรงงานนอกระบบ" ไม่มีวันเกษียณ หยุดทำงาน ก็ไม่มีกิน !

และ นางจิตติมา ช่วงจั่น แรงงานนอกระบบ ปัจจุบันเป็นอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ และประธานชุมชนบ้านเอื้ออาทรสวนพลูพัฒนา เขตสาทร กรุงเทพฯ

จิตติมา ประกอบอาชีพอิสระมาตลอด เช่น ทำนา เลี้ยงปลา เย็บผ้า จนปัจจุบันยังประกอบอาชีพเย็บผ้าอยู่บ้าง แต่เป็นลักษณะฟรีแลนซ์คือ มีคนว่าจ้างก็ทำ แต่ช่วงหลังไม่ค่อยได้เย็บผ้า แต่มาทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ และประธานชุมชนบ้านเอื้ออาทรสวนพลูพัฒนาฯ เป็นบทบาทหลัก ซึ่งเป็นงานอาสาสมัคร ไม่มีรายได้

จิตติมายอมรับว่า แรงงานงานนอกระบบไม่มีเงินบำนาญ จึงต้องทำงานตลอด แม้เกษียณแล้วก็ยังต้องทำงาน ไม่งั้นไม่มีกิน

ในวัย 64 ปี จิตติมามีรายได้ 3 ทาง คือ 1.เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 บาท 2.เงินจากห้องเช่า ประมาณ 9,000 บาทต่อเดือน 3.เงินค่าป่วยการ 1,000 บาท จากการเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข โดยรวมถือว่าเพียงพอกับรายจ่าย

“ไม่ถึงกับทุกข์ สุขอยู่ ก็พยายามไม่คิดอะไรมาก มันก็สุขอยู่กับเรา”

“หากเครียดมาก มันก็จะมีแต่ความทุกข์ ปัจจุบันอยู่แบบพออยู่พอกินพอใช้ มีความสุขกับการทำงานอาสาสมัคร ที่ได้ออกไปพบปะพูดคุยกับผู้คน ได้เจอเพื่อน ได้ดูแลผู้สูงอายุ ถามไถ่กัน ส่วนเรื่องเงินไม่มีปัญหา เพราะมีรายได้พิเศษจากห้องเช่ามาเป็นค่าใช้จ่ายต่อเดือน”

นางจิตติมา ช่วงจั่น แรงงานนอกระบบ
หวังให้ "ลูกหลานเลี้ยงยามแก่เฒ่า" พ.ศ.นี้ ทำได้ไหม ?

เป็นชีวิตที่แตกต่างกัน เพียงเพราะ “สวัสดิการไม่เท่าเทียมกัน” เมื่อสวัสดิการไม่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตดีอย่างทั่วถึง หลายคนอาจคิดว่า ก็คงต้องใช้ตัวช่วยสุดท้ายคือ พึ่งลูกหลาน ให้มาเลี้ยงยามแก่เฒ่า

น่าสนใจว่าผู้สูงอายุทั้ง 3 เคส ก็มีลูกหลานเช่นกัน แต่ละคนได้พึ่งพาลูกหลานกันบ้างไหม ?

“ดิฉันมีลูก 2 คน เขาก็ทำงานของเขา เขาอยากส่งเงินแต่ไม่เอา เดี๋ยวเขาเดือดร้อน ถ้าเราทำให้ลูกเดือดร้อนเราก็ไม่สบาย” นางมณฑา สอาดเอี่ยม ข้าราชการบำนาญ เล่าด้วยรอยยิ้ม

ส่วน นางวรรณา ลีลายุทธ บำนาญประกันสังคม มีลูก 2 คน และมีน้องสาว เธอยอมรับว่า หากไม่เดือดร้อนจริง ๆ จะไม่ขอเงิน

“ภาระเขาก็เยอะ ถ้าถามว่าแม่ไม่มีเขาจะช่วยไหม เขาก็ให้อยู่ แต่ดิฉันไม่อยากพึ่งพาเขาเยอะ สงสารลูก” วรรณาเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

ขณะที่ นางจิตติมา ช่วงจั่น แรงงานนอกระบบ ก็มีลูก 2 คนเช่นกัน แต่ไม่ได้ขอเงินจากลูก เธอมีหลักคิดว่า “ลูกไม่เอาของเรา เราไม่เอาของเขาดีกว่า เพราะเขาก็ช่วยตัวเองอยู่ เขาเพิ่งสร้างครอบครัวเหมือนกัน”

มุมมองขยายเกษียณอายุ มากกว่า 60 ปี ?

เมื่อเรื่องเงินสำคัญกับสุขทุกข์ของชีวิตหลังเกษียณ ทั้ง 3 ผู้สูงอายุจึงอยากเปิดมุมมองเรื่องการขยายเกษียณมากกว่า 60 ปีในไทย

นางมณฑา สอาดเอี่ยม ข้าราชการบำนาญ เสนอว่าให้ขยายเกษียณอายุบางคน คนที่แข็งแรงก็สู้ต่อไปได้ แต่ถ้าคนที่ไม่แข็งแรงก็ไม่สมควร เพราะจะทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ มองว่าขยายเกษียณอายุไปที่ 65 ปี น่าจะกำลังดี

นางวรรณา ลีลายุทธ บำนาญประกันสังคม เห็นพ้องขยายเกษียณอายุไปที่ 65 ปี กำลังดี โดยยกประสบการณ์ตัวเองที่เกษียณตอนอายุ 65 ปี ตอนนั้นยังคงทำงานได้

“ตอนดิฉันอายุ 65 ปี แล้วที่ทำงานให้เกษียณ จริง ๆ ตอนนั้นยังทำงานได้ ทำงานไหว แต่พอไปสมัครทำงานที่ไหน เขาไม่รับแล้ว”

“เขามองว่าอายุเยอะแล้ว ถึงเป็นแม่บ้านก็ไม่รับ ทั้งที่เราเองคิดว่าเราทำงานไหว วันนี้พอมาอยู่อย่างนี้ แล้วไม่ได้ทำอะไร มันเหมือนว่าร่างกายมันอ่อนเพลีย มันไม่ตื่นตัว แต่ก่อนเคยตื่นเช้ามาอาบน้ำไปทำงานได้ เดินไปทำงาน เพราะศูนย์ฯ อยู่ไม่ไกล แต่พอมาระยะหลัง อ่อนเพลีย เดินไม่ค่อยได้” วรรณากล่าว

ขณะที่ นางจิตติมา ช่วงจั่น แรงงานนอกระบบ บอกว่า ขยายไปถึงอายุ 65 ปี ก็น่าจะสมควรอยู่ แต่ควรขยายเฉพาะบางคน หากคนที่มีโรคประจำตัว คงไม่ไหว อย่างตัวเองที่มาเป็นจิตอาสาเพราะคิดว่ายังพอไหว หากคนร่างกายไม่แข็งแรงคงต้องพัก

ถ้ารัฐส่งเสริม การจ้างงานผู้สูงอายุ ?

นางมณฑา สอาดเอี่ยม ข้าราชการบำนาญ มองว่า ต้องแล้วแต่บางคน หากทำไม่ไหวก็ไม่ควร หากทำไหวก็สมควร แต่สูงอายุแล้วคงไม่สามารถทำงานได้เท่าวัยปกติ คงสู้เด็ก ๆ ไม่ได้

นางวรรณา ลีลายุทธ บำนาญประกันสังคม มองว่า อยากให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุ เป็นอาชีพอะไรก็ได้ที่ทำได้ อยู่กับบ้าน หรืออาชีพเบา ๆ ที่ผู้สูงอายุทำได้ แต่ก่อนดิฉันเย็บผ้า ถามว่าตอนนี้เย็บไหวไหม ก็ยังไหว แต่ตาเริ่มมองไม่ค่อยเห็น มันมัว ๆ จริง ๆ คนต่างจังหวัดอายุเยอะแล้ว ก็ยังทำงาน ทำไร่ ทำนา

ขณะที่ นางจิตติมา ช่วงจั่น แรงงานนอกระบบ มองว่า ควรจ้างงานผู้สูงอายุมาทดแทนวัยแรงงานลดลง ขณะที่ผู้สูงอายุบางคนต้องพึ่งตัวเอง ส่วนลักษณะงานที่ควรผู้สูงอายุทำ คิดว่าเป็นงานอิสระที่ทำได้ ไม่ต้องใช้แรงเหมือนงานทั่วไป ควรถนอมร่างกายไว้บ้าง ในการให้ได้ค่าตอบแทนที่พอสมควรใช้จ่ายในครอบครัว ไม่ต้องรบกวนลูกหลานที่ช่วยตัวเองกันอยู่

ไทยควรเพิ่ม "บ้านพักคนชรา" ให้มากกว่านี้หรือไม่ ?

“ควรขยายมากขึ้นเพื่อรองรับสังคมสูงวัย มองว่าหากยังมีญาติอยู่ คงไม่ได้ไป คิดว่าคงต้องเป็นผู้สูงอายุไม่มีญาติ ส่วนตัวเคยถามไปแล้ว เคยมีความคิดอยากไปอยู่ เผื่อมีเพื่อนคุย” นางมณฑา สอาดเอี่ยม ข้าราชการบำนาญกล่าว

ส่วน นางวรรณา ลีลายุทธ บำนาญประกันสังคม มองว่า หากเป็นไปได้ ก็อยากให้ขยายให้เยอะขึ้น เพื่อรองรับผู้สูงอายุได้มาก ๆ เพราะบางคนลูกไม่ดูแล แต่ค่าใช้จ่ายตรงนั้นอยากเสนอว่าให้รัฐช่วยฟรีได้ไหม

“ส่วนตัวไม่อยากไปอยู่นะ เพราะยังตัดลูกตัดหลานไม่ได้ ยังอยากอยู่กับลูกกับหลานไปก่อน แต่ในอนาคตดิฉันไม่รู้ว่าหากทำอะไรไม่ได้ สมองเลอะเลือน ลูกจะเอาไปให้อยู่เพราะเป็นภาระเขามาก ก็ไม่แน่ เพราะเป็นภาระลูก แต่ตอนนี้ยังอยากอยู่กับลูกกับหลานไปก่อน”

ขณะที่ นางจิตติมา ช่วงจั่น แรงงานนอกระบบ มองว่า คิดว่าถ้ามีเพิ่มก็ดี เพราะต่อไปลูกหลานจะน้อยลง ผู้สูงอายุบางคนก็คงต้องอาศัยบ้านพักคนชรา ส่วนตัวไม่คิดจะไป เพราะคิดว่าถ้าสูงอายุขึ้นมา อย่างอยู่บนแฟลตชั้น 3 หากขึ้นไม่ไหวแล้ว คงกลับบ้านนอกอย่างเดียว เพราะมีบ้านอยู่

อยากให้รัฐเพิ่ม "สิทธิ – สวัสดิการผู้สูงอายุ" อีกหรือไม่ ?

นางมณฑา สอาดเอี่ยม ข้าราชการบำนาญ ตอบสั้นๆ ว่า ไม่มี

ส่วน นางวรรณา ลีลายุทธ บำนาญประกันสังคม เสนอว่า อยากมีสิทธิในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงอยากให้เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพราะความเป็นอยู่ในปัจจุบันมันก็แย่อยู่แล้ว บ้านเช่าข้าวซื้อ มันก็หนักเหมือนกัน ส่วนจะเพิ่มเท่าไหร่ เห็นนโยบายจะให้ 3,000 บาทต่อเดือน ดิฉันโอเคนะ เพราะว่าอย่างน้อยช่วยเราไม่ต้องพึ่งพาลูก เราสามารถอยู่ได้ เดือนละ 3,000 บาท

ขณะที่ นางจิตติมา ช่วงจั่น แรงงานนอกระบบ เสนอว่า อยากให้รัฐช่วยผู้สูงอายุได้มีรายได้ใช้จ่าย เหมือนได้ช่วยครอบครัวด้วย ทุกวันนี้ที่ประกาศว่าจะช่วยโน่นช่วยนี่ ขอให้เป็นจริงอย่างที่พูด ส่วนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ก็ไม่พอ น้อยไป ขั้นต่ำเส้นความยากจนน่าจะ 3,000 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น วันละ 100 บาท ถือว่าไม่มาก เพราะตอนนี้อาหารแพงทุกอย่าง บางคนลูกหลานมาขอ ขอย่า ขอยาย ก็ต้องให้ บางทีเราเลี้ยงเขาก็ต้องจ่ายให้ลูกหลาน

“ผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ ถ้าไม่ทำงานก็ไม่มีเงิน ก็อยากให้พวกเขามีเงินสักก้อนใช้หลังเกษียณที่พอใช้จ่าย” นางจิตติมากล่าวทิ้งท้าย

แฟลตชุมชนบ้านเอื้ออาทรสวนพลูพัฒนา เขตสาทร กรุงเทพฯ

Share This

Facebook
X (Twitter)

The Visual ชวนคุณสำรวจแหล่งรายได้ของผู้สูงอายุไทยใน 3 ระบบ ได้แก่ อดีตข้าราชการ, อดีตแรงงานเอกชน และแรงงานนอกระบบ รวมถึงภาพการเปลี่ยนแปลงประชากรที่เกิดขึ้นทั่วโลก 👉 www.thaipbs.or.th/TheVisualRetirement